ทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ดี เริ่มต้นที่ไหน
ช่วงนี้เด็กๆเปิดเทอมมากันได้เกินครึ่งทางแล้วนะคะ เด็กๆที่น่ารักจะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้หรือยังนะ หรือคุณพ่อคุณแม่กำลังปวดหัวกับพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น ร้องกรี๊ดโวยวายปฏิเสธการไปโรงเรียน ตีเพื่อน แย่งของเล่นกับเพื่อน พฤติกรรมเหล่านี้บางคนอาจจะเรียกว่าวัยทองตามวัย แต่แท้จริงแล้วนั้นพฤติกรรมเหล่านี้แสดงออกให้เห็นถึง การขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ หรือ Emotional control ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของทักษะความคิดเชิงบริหาร (Executive function: EF) และกว่าที่เด็กหนึ่งคนจะสามารถพัฒนาทักษะการควบคุมอารมณ์ได้ดีนั้นต้องอาศัยระยะเวลา การเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เรามาดูกันค่ะว่ากว่าที่เด็ก ๆ จะพัฒนาทักษะการควบคุมอารมณ์ได้นั้นต้องมีอะไรบ้าง
กว่าจะมาเป็น ทักษะการควบคุมอารมณ์
ทักษะการควบคุมอารมณ์จะพัฒนาและเริ่มทำได้ดีในช่วงอายุ 5 – 6 ขวบ และมีทักษะที่พัฒนาการก่อนหน้านี้ที่ส่งผลต่อทักษะการควบคุมอารมณ์
- ทักษะความจำใช้งาน (Working memory) เริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุ 1 ขวบ พฤติกรรมเด็กที่แสดงออกว่าทักษะความจำใช้งานบกพร่องเช่น มีความสนใจดจ่อได้น้อย ไม่เหมาะสมตามวัย จดจำกติกาหรือจำขั้นตอนการทำกิจกรรม 2 – 3 ขั้นตอนได้แค่ตอนสุดท้าย ไม่สามารถคงหัวข้อสนทนาหรือเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
2. ทักษะการหยุด ยับยั้งพฤติกรรม (Inhibit) เริ่มพัฒนาต่อมาเมื่ออายุ 3 – 3ขวบครึ่ง เป็นการยับยั้งอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม พฤติกรรมเด็กที่แสดงออกว่าทักษะการหยุด ยับยั้งพฤติกรรมบกพร่องเช่น พอใจที่ได้แกล้งเพื่อน อยู่ไม่นิ่ง ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย ไม่ตั้งใจทำงาน หากทำก็จะทำแบบลวกๆ อยากได้อะไรต้องได้ทันที ลงไปร้องอาละวาดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
3. ทักษะความคิดยืดหยุ่น (Shift/Cognitive flexibility) เริ่มพัฒนาเมื่ออายุ 4 – 4ขวบครึ่ง เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดได้เมื่อมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมเด็กที่แสดงออกว่าทักษะความคิดยืดหยุ่นบกพร่องเช่น หงุดหงิดอารมณ์เสียเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย ของเล่นเปลี่ยนตำแหน่งการวางหรือถูกย้ายที่ มีความวิตกกังวลหรือกลัวมากเกินไปเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัดวุ่นวาย มีเสียงดังหรือแสงจ้า
3 ทักษะนี้จะพัฒนาและส่งผลในทักษะขั้นต่อไปคือทักษะการควบคุมอารมณ์ เมื่อทักษะการควบคุมอารมณ์มีปัญหาพฤติกรรมที่แสดงออกมาให้เห็นเช่น ตื่นเต้น วิตกกังวลมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน หงุดหงิดอารมณ์เสียเมื่อเจอปัญหาเล็กน้อยเช่น ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ ระเบิดอารมณ์รุนแรงโดยแสดงออกทางกายเช่นตี กระทืบเท้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่าย ในเด็กบางคนอาจรู้สึกผิดหวังเสียใจนานเกินไปแม้จะได้รับการปลอบโยนแล้ว
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของทักษะความคิดเชิงบริหาร (EF) ที่จะพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงปฐมวัย (6ปีแรกของชีวิต) และทักษะความคิดเชิงบริหาร (EF) นั้นจะนำพาให้เด็กๆมีความสามารถในการกำกับตนเอง (Self-regulation) ใช้ชีวิตดำเนินไปยังเป้าหมายที่ตนเองตั้งใจ มีผลการศึกษาพบว่า เด็กที่มีทักษะความคิดเชิงบริหารที่ดีสัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จทางการเรียนได้ดี นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เด็กมีทักษะทางสังคมที่ดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักแบ่งปันผู้อื่นและเป็นที่ยอบรับของเพื่อน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพนั้น ทักษะความคิดเชิงบริหาร (EF) คงเป็นเหมือนกับหางเสือของเรือลำหนึ่งที่จะคอยควบคุมทิศทางการแล่นไปของเรือแต่ละลำตามทางที่ต้องการเพื่อไปถึงยังจุดหมายฝั่งฝัน
เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกถึงปัญหาในทักษะความคิดเชิงบริหาร (EF) แต่ละด้านนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การไปโรงเรียน การเข้าสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและการปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน เมื่อได้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมแล้วมีข้อไหนที่ตรงกับเจ้าตัวเล็กที่บ้านบ้างไหมคะ หากเริ่มมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงปัญหาเด็กๆ ควรได้รับการพัฒนาทักษะในแต่ละด้านนั้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กๆสามารถแสดงพฤติกรรมออกมาได้อย่างเหมาะสมในทุกสถานการณ์
ทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ดี เริ่มต้นที่…บ้าน
ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตเด็กๆ นั้นเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม มองดู และเลียนแบบทำตามในสิ่งที่เด็กสนใจ การฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์ก็เช่นกัน ผู้ปกครองเปรียบเป็นกระจกสะท้อนและเป็นต้นแบบที่เด็กๆ จะได้เริ่มต้นเรียนรู้ ในช่วงที่เด็กยังเล็กเราเริ่มจากการสอนให้เด็กรู้จักกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการสะท้อนอารมณ์ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น “แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ขนมหล่นพื้น” และสอนให้เด็กค่อยๆเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา ประสบการณ์ของเด็กๆที่ได้ลงมือทำและจัดการกับปัญหาโดยมีผู้ปกครองอยู่เคียงข้างจะทำให้เด็กๆ มีความมั่นใจที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองแม้จะต้องเผชิญกับความเสียใจเด็กๆ จะก้าวผ่านไปได้ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้แสดงออกถึงทักษะการควบคุมอารมณ์ที่ดีนั่นเองค่ะ
หากเด็กๆ เริ่มมีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและผู้ปกครองยังไม่แน่ใจวิธีการรับมือและสอนเด็กๆให้พัฒนาทักษะเหล่านี้สามารถพบคุณครูนักกิจกรรมบำบัดที่เซ้นเซ สหคลินิก เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมทักษะความคิดเชิงบริหาร (EF) และผู้ปกครองได้รับคำแนะนำที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อร่วมกันสร้างทักษะที่สำคัญให้กับเด็กๆของเราค่ะ