ความจำดีเริ่มกี่ขวบ

October 5, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

ความจำชื่ออะไร

ความจำคือความสามารถของสมองในการจดจำเรื่องราว เหตุการณ์ คำ อาจจะจดจำในระยะสั้นหรือระยะยาว โดยสมองจะเริ่มรับข้อมูล ประมวลผลและจัดเก็บเมื่อถึงเวลาที่ต้องการสมองจะสามารถระลึกและดึงข้อมูลออกมาใช้ได้ ซึ่งความจำสามารถแบ่งประเภทเป็น ความจำระยะสั้นหรือความจำใช้งาน (Short term memory/Working memory) และความจำระยะยาว (Long term memory) ในการศึกษาเกี่ยวกับความจำในปัจจุบันได้แยกความจำระยะสั้นและความจำใช้งานออกจากกันเนื่องจากมีความแตกต่างเล็กน้อยเนื่องจากความจำใช้งานเป็นการจดจำข้อมูลระยะสั้นแต่คงข้อมูลไว้ต่อเพื่อทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่งเช่น การจำเบอร์โทรศัพท์และสามารถนำเบอร์โทรนี้สามารถกดโทรศัพท์เพื่อโทรกลับได้ ถึงความจำระยะสั้นและความจำใช้งานอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยแต่จะยังมีความทับซ้อนกันอยู่ ในวันนี้เราจะมาสนใจ ความจำระยะสั้นหรือความจำใช้งาน (Short term memory/Working Memory) ของเด็กๆ กันค่ะ

ความจำใช้งานดีอย่างไร

ความจำใช้งานเป็นทักษะสมองเชิงบริหาร (Executive function: EF) ขั้นแรกที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี โดยเริ่มจากการจดจำคำสั่งง่ายๆ เช่น บ๊ายบาย ยิ้มหวาน ส่งจุ๊บ เมื่อโตขึ้นเด็กเริ่มทำตามคำสั่ง 1 ขั้นตอนได้เช่น เอาแพมเพิสไปทิ้งขยะ เอาของเล่นเก็บเข้าที่ ซึ่งความจำใช้งานมีความสัมพันธ์กับการจดจ่อใส่ใจ (Attention) เนื่องจากการจดจ่อใส่ใจจะทำให้เด็กๆ เปิดประตูรับข้อมูลเข้าไปเข้าสู่กระบวนการจดจำได้ง่ายขึ้นและเรียนรู้ได้เร็ว ลักษณะของเด็กๆ มีความจำใช้งานที่ดีเช่น เด็กสามารถจดจำกติกา จดจำขั้นตอนการทำงาน จดจำหน้าที่ของตนเองที่ต้องทำได้ด้วยตนเอง ช่วยเหลืองานบ้านได้ เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ดี

ลูกอายุเท่านี้สามารถจำได้แค่ไหน

ความจำระยะสั้นใช้งานถูกนำมาศึกษาว่าความแตกต่างระหว่างอายุกับความสามารถในการประมวลผลในหน่วยความจำระยะสั้นเป็นอย่างไร โดยให้ผู้เข้าร่วมจดจำรายการสิ่งของ คำ ที่นำเสนอตามลำดับอย่างรวดเร็วที่แน่นอน เพื่อวัดขอบเขตความจำ (Memory span tasks) ซึ่งพบว่าความสามารถในช่วงความจำจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 18 ปี จากนั้นจะค่อนข้างคงที่ซึ่งวัยผู้ใหญ่จะสามารถจดจำได้ประมาณ 7 อย่าง และเมื่อศึกษาในเด็กพบว่าเด็กจะสามารถจดจำสิ่งที่ให้จำได้จำนวนโดยประมาณดังนี้

อายุ 2 ปี 2 อย่าง

อายุ 5 ปี 4 อย่าง

อายุ 7 ปี 5 อย่าง

อายุ 9 ปี 6 อย่าง

นอกจากการจดจำจากการได้ยินแล้ว เด็กๆ สามารถทำการรับข้อมูลผ่านทางสายตาและสามารถจดจำว่าสิ่งใดหายไปได้ โดยในช่วงเด็กอายุประมาณ 4 ปี จะสามารถจดจำวัตถุที่หายไปรอบละ 1 ชิ้นจากจำนวน 4 ชิ้น ทั้ง 2 รอบได้ และเมื่ออายุถึงประมาณ 5 ขวบ 8 เดือนจะสามารถจดจำวัตถุที่หายไปรอบละ 1 ชิ้นจากจำนวน 6 ชิ้น ทั้ง 2 รอบได้

            ความจำระยะสั้นไม่เพียงแต่จะจดจำได้ดีเมื่ออายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก ความรู้และประสบการณ์ที่จะพาให้เด็กพัฒนาทักษะความจำใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

เล่นอย่างไรให้พัฒนาความจำใช้งาน

หลังจากที่เราทำความรู้จักว่าความจำคืออะไร พัฒนาการเกี่ยวกับความจำของเด็กแต่ละช่วงอายุ ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะความจำระยะสั้น/ความจำใช้งานของเด็กๆ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันภายในบ้าน

  • การเล่นเกมร่วมกัน เช่น เกมจำภาพการ์ดและเรียงไอศกรีมตามโจทย์, การจำภาพบล็อกสีและเรียงให้เหมือนกับโจทย์, เกมไปซื้อสินค้าตามรายการที่กำหนด หรือคุณพ่อคุณแม่สามารถปรับให้เข้ากับของเล่นที่บ้านได้ค่ะเช่น หาสมบัติ(ของเล่น)ที่ซ่อนอยู่ในบริเวณที่กำหนด เล่นทำอาหาร
  • การสร้างเวลาคุณภาพผ่านการอ่านหนังสือนิทานก่อนนอน พูดคุยเกี่ยวกับนิทานที่เล่าจบไป
  • มีส่วนร่วมในการทำงานบ้าน หากเด็กเล็ก 1 – 2 ปี สามารถให้ทำตามคำสั่ง 1 ขั้นตอนได้เช่น เอาแพมเพิสไปทิ้ง เอาอันนี้ไปให้คุณยาย อายุ 2 – 4 ปี ทำตามคำสั่ง 2 ขั้นตอนเช่น เอาขนมไปวางแล้วหยิบขวดน้ำมา งานบ้านเช่น เช็ดโต๊ะหลังกินข้าวเสร็จเอง ช่วยกรอกน้ำเข้าตู้เย็น พับผ้าแบบง่ายๆ เมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มไปโรงเรียนสามารถมอบหมายหน้าที่จัดกระเป๋าไปโรงเรียนโดยคุณพ่อคุณแม่ช่วยดูความเรียบร้อย ชี้แนะเมื่อจำเป็นเพื่อฝึกความจำใช้งาน การวางแผนการช่วยเหลือตนเอง

ความจำใช้งานเป็นด่านแรกของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของทักษะสมองเชิงบริหาร EF ที่จะต่อยอดอสู่อนาคต ซึ่งสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ผ่านการเล่นร่วมกันโดยความยากของกิจกรรมที่เล่นด้วยกันมีความเหมาะสมตามระดับพัฒนาการ สร้างเวลาคุณภาพกับคุณพ่อคุณแม่และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำงานบ้านตามวัย เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงจะทำให้เราเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของเด็กๆนะคะ

อ้างอิง

พีรเดช ธิจันทน์เปียง, อนุชาติ เขื่อนนิล, สุธินันท์ จันทร, ฐิติยา วังกาวรรณ์ และสุรชาต ทองชุมสิน. (2564). การรับรู้ทางสายตา: ทฤษฎีพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ทางกิจกรรมบำบัด (Visual Perception: Theoretical Base and Application in Occupational Therapy). สาขากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

Schneider, W. (2015). The Role of Basic Memory Capacities and Working Memory. In Memory Development from Early Childhood Through Emerging Adulthood (pp 131-181). Switzerland: Springer International Publishing.

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123