เล่นอะไรดี เมื่อหนูมีปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึก
จากครั้งที่แล้วที่เราเคยพูดถึงการบูรณาการประสาทความรู้สึกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อมีความบกพร่องเกิดขึ้น เด็กๆ ที่น่ารักของเราจะแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไรบ้าง เราไปทบทวนกันก่อนค่ะที่ บทความ ความบกพร่องการบูรณาการประสาทความรู้สึก หลายครั้งที่ความบกพร่องนี้กระทบกับการทำกิจวัตรประจำวัน การมีส่วนร่วมทางสังคม หรือการเล่นของเด็กๆ ที่มีความบกพร่องการบูรณาการประสาทความรู้สึกนั้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้จากการจัดกิจกรรมที่มีสิ่งเร้าอย่างเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และมีความท้าทายที่พอดี (Just right challenge) จะทำให้เกิดการปรับตัว (Adaptive response) ต่อสิ่งเร้านั้นแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ความบกพร่องการบูรณาการประสาทความรู้สึกมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งเกิดจากขั้นตอนการรับและประมวลผลคนละขั้นตอนกัน พฤติกรรมที่แสดงออกบางอย่างอาจมีความคล้ายกันและบางอย่างมีความแตกต่างกัน ต้องได้รับการประเมินจากนักกิจกรรมบำบัด เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบถึงความบกพร่องการบูรณาการประสาทความรู้สึกแล้ว เรามาจัดกิจกรรมสนุกๆ ไว้ให้เด็กๆ เล่นและได้ประโยชน์อีกด้วยค่ะ
มีปัญหาแบบนี้เล่นอะไรดีนะ
ความบกพร่องการบูรณาประสาทความรู้สึกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ ความบกพร่องในการปรับระดับความรู้สึก (Sensory Modulation Disorder: SMD) คือ เด็กจะความบกพร่องในการปรับระดับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งเร้าทำให้เด็กตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาและแสดงออกไปไม่เหมาะสม มักเกิดขึ้นเป็นกระบวนการสู้หรือหนี (Fight or Freeze)
หากเด็กตอบสนองต่อสิ่งเร้ามาก/สูงเกินไป (Sensory over-reactivity) เด็กจะมีการปฏิเสธหรือหลีกหนีสัมผัสที่แผ่วเบาหรือสิ่งเร้าที่คาดคะเนไม่ได้ กิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มนี้สามารถเริ่มจากเพิ่มประสบการณ์การรับสัมผัส (Tactile) และ การรับรู้ผ่านเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อ (Proprioception) เช่น การขยำแป้งโดว์ การหาของในกะบะทราย ปั๊มมือลงบนโฟมโกนหนวด
หากเด็กตอบสนองต่อสิ่งเร้าน้อย/ต่ำเกินไป (Sensory under-reactivity) หรือ เด็กแสวงหาการรับความรู้สึก (Sensory seeking/ craving) ควรจัดกิจกรรมที่ได้การรับสิ่งเร้าที่เข้มข้น คาดคะเนได้ยาก กิจกรรมที่เหมาะสม เช่น ยืนบนกระดานทรงตัวที่โคลงเคลงไปมา วิ่งหลบลูกบอลไม่ให้ชน นั่งบนชิงช้าที่แกว่งด้วยความเร็วและทิศทางที่ไม่แน่นอน
ความบกพร่องในการแยกแยะความรู้สึก (Sensory Discrimination Disorder: SDD) คือ เด็กจะมีความยากลำบากในการแยกแยะสิ่งเร้าที่เข้ามาโดยไม่ใช้ตามองเช่น การรับรู้ผ่านการสัมผัส การรับรู้ผ่านระบบเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กยากลำบากที่จะบอกความแตกต่างของสิ่งที่ได้รับสัมผัสมา กระบวนการนี้จะเป็นปัญหาที่การบูรณาการประสาทความรู้สึก กิจกรรมที่เหมาะสม เช่น ปีนป่ายบันไดลิง ห้อยโหนบาร์ นอนคว่ำบนกระดานลื่นนำบอลใส่ตะกร้าในทิศทางต่างๆ เล่นเกมคลำหาสมบัติ
ความบกพร่องในการเคลื่อนไหวที่มีพื้นฐานจากการรับความรู้สึก (Sensory-based motor disorder: SBMD) หากเด็กๆ มีความบกพร่องการบูรณาประสาทความรู้สึกในส่วนนี้จะทำให้เด็กๆ เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ทำกิจกรรมที่กะแรงกะระยะได้ไม่ดี วางแผนการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมใหม่ได้ยากลำบาก กิจกรรมที่เหมาะสม เช่น การวางแผนปีนป่ายหน้าผาจำลอง ให้เด็กได้อธิบายวิธีการเล่นหรือการใช้อุปกรณ์การเล่นที่หลากหลาย วางแผนการกระโดดหรือเคลื่อนไหวที่ไม่คุ้นเคย
หากที่บ้านไม่มีอุปกรณ์ เราจะเล่น…
คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินเกมเดินท่าสัตว์ต่างๆ ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นท่าเดินหมี เดินปู กระโดดกบ ท่าทางต่างๆเหล่านี้ไม่เพียงแต่เล่นให้เด็กๆเกิดความสนุกเท่านั้นแต่ยังมีประโยชน์กับร่างกายเด็กๆ มากเลยค่ะ
- กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเด็กๆ ได้เชื่อมโยงท่าทางกับลักษณะสัตว์แต่ละตัว เราสามารถชวนเด็กเล่นให้ท้าทายมากขึ้นเช่น คุณพ่อคุณแม่ทำท่าทาง ลูกเป็นคนทาย หรือสลับหน้าที่กันเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
- ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว แขนและขา ขณะที่เด็กทำท่าทางสัตว์จะมีการลงน้ำหนักที่บริเวณเท้าหรือฝ่ามือ ต้องคอยควบคุมให้ร่างกายอยู่ในท่าที่เหมาะสมรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ล้ม
- ส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึก ในเด็กที่มีความบกพร่องการบูรณาการประสาทความรู้สึกกลุ่มการวางแผนการเคลื่อนไหวจะทำท่าทางต่างๆ ได้ยากลำบาก การฝึกวางแผนการเคลื่อนไหวผ่านท่าเดินสัตว์จะช่วยให้เด็กๆ ได้คิดและลองทำซ้ำๆ ว่าจะวางแผนให้แขน ขา ลำตัวเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันได้อย่างไร
ตัวอย่างท่าสัตว์ง่าย ๆ เป็นไอเดีย ลองไปเล่นกันกับเด็ก ๆ ค่ะ
ทั้งนี้กิจกรรมส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึกอาจเหมือนหรือแตกต่างในแต่ละบุคคลและต่างเหตุผลในการเลือกใช้แต่ละกิจกรรม คุณพ่อคุณแม่สามารถพาเด็กๆ มาพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อทำการประเมินและทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึกให้ตรงกับความต้องการของเด็กๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมค่ะ
เอกสารอ้างอิง
Jenn. (2020, August 4). Animal walks for kids. Retrieved 19 October 2024, https://monstermilestones.com/animal-walks-for-kids/
สร้อยสุดา วิทยากร, สุภาพร ชินชัย,และ สรินยา ศรีเพชราวุธ. (2555). กรอบอ้างอิงการบูรณาการประสาทความรู้สึก: ทฤษฎีและการปฏิบัติการทางคลินิกกิจกรรมบำบัด. โครงการตำรา คระเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่