ช่วยเหลือตัวเองตามวัย มั่นใจ หนูทำได้

December 7, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

“ทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัย” คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินผ่านหูบ่อยๆเลยใช่ไหมคะ ทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยเป็น 1 ในด้านการประเมินและคัดกรองพัฒนาการสำหรับเด็ก แต่อาจจะสงสัยว่าทำไมเด็กๆ จะต้องช่วยเหลือตนเองตามวัยให้ได้ ทั้งๆ ที่เด็กอาจจะทำเลอะเทอะ ทำช้าไม่ทันใจ ไม่คล่องแคล่ว แล้วทักษะนี้สำคัญอย่างไร ทำไมต้องให้เด็กๆ ได้ทำด้วยตนเอง มาเรียนรู้ไปพร้อมกันค่ะ

ทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยเป็นทักษะที่เด็กๆ มีการพัฒนาตั้งแต่ 6 เดือนที่จะเริ่มใช้มือจับขวดนมได้ และกล้ามเนื้อมัดเล็กจะค่อยๆพัฒนาฝึกช่วยเหลือตนเองในงานที่ยากขึ้นได้ เมื่อเด็กเกิดประสบการณ์ได้ทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยแล้วนั้น ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกด้วยค่ะ

  1. กล้ามเนื้อมัดใหญ่พัฒนาได้ดีจากการฝึกยืนทรงตัวเพื่อใส่และถอดกางเกง
  2. กล้ามเนื้อมัดเล็กสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว กล้ามเนื้อในมือแข็งแรง หยิบจับวัตถุชิ้นเล็กได้มั่งคง
  3. สหสัมพันธ์ตาและมือ (Eye hand coordination) ทำงานประสานกันได้ดี
  4. เกิดทักษะสมองความคิดเชิงบริหารขั้นสูง (Executive function) จากการฝึกทำกิจกรรมช่วยเหลือตนเองตามวัยอย่างสม่ำเสมอ เกิดการจดจำขั้นตอน คิดและวางแผนการทำกิจกรรม ควบคุมอารมณ์ได้ในขณะที่ลองผิดลองถูก
  5. เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเองที่มีความสามารถในการทำกิจกรรมช่วยเหลือตนเองตามวัยได้

ทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยที่สำคัญ

ทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยสามารถส่งเสริมได้ตั้งแต่อายุก่อนขวบ ซึ่งการช่วยเหลือตนเองที่สำคัญและเด็กๆ สามารถทำได้ง่ายคือ การรับประทานอาหารด้วยตนเองและการแต่งตัวเอง  เรามาทำความเข้าใจในพัฒนาการเชื่อมโยงกับทักษะการช่วยเหลือตนเองตามวัยกันค่ะ

การรับประทานอาหารด้วยตนเอง

  • อายุ 5 – 6 เดือน เด็กจะเริ่มหยิบจับเอาของเข้าปากทั้งของเล่น อาหารและขนม ลักษะการจับจะจับกำทั้งมือ อาหารจะเป็นแท่งแนวยาวส่งเสริมให้เด็กกำและนำเข้าปากได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้เล่นช้อนเพื่อทำความคุ้นเคย บางบ้านอาจให้เริ่มรับประทานอาหารแนว Baby led weaning (BLW) 
  • อายุ 9 เดือน เด็กจะเริ่มหยิบของชิ้นเล็กแบบจีบนิ้วได้ อาหารที่ช่วยส่งเสริมการใช้มือจะมีขนาดเล็กลง หั่นเป็นลูกเต๋า หรือฉีกเป็นชิ้นเล็กให้เด็กใช้นิ้วมือหยิบนำใส่ปาก
  • อายุ 1 ปี เด็กเริ่มใช้ช้อนตักอาหารได้ เริ่มใช้ส้อมจิ้มผลไม้ เด็กจะยังทำได้ไม่คล่องแคล่ว คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำในทุกมื้ออาหาร ช่วงแรกสามารถป้อนร่วมด้วยและค่อยๆ ลดการป้อนลงจนเด็กสามารถทำได้เอง 
  • อายุ 1 ปี 6 เดือน – 2 ปี เด็กสามารถใช้ช้อน/ส้อมในการรับประทานอาหารได้เอง เด็กสามารถถือแก้วน้ำดื่มเองได้ เริ่มฝึกเลิกขวดนมได้ในช่วงอายุนี้ หากเด็กอายุมากกว่า 2 ปีและยังไม่รับประทานอาหารเองได้ ยังไม่สามารถดื่มน้ำจากแก้วได้ แปลว่า มีพัฒนาการด้านสังคมและการช่วยเหลือตนเองล่าช้า
  • อายุ 3 – 5 ปี เด็กจะเริ่มควบคุมสหสัมพันธ์ตาและมือได้ดีขึ้นทำให้ทักษะการใช้ช้อนทำได้ดีขึ้นตามลำดับ เด็กจะเริ่มใช้ช้อนตัดอาหารให้เป็นชิ้นเล็กได้ 

การแต่งตัวเอง

  • อายุ 1 ปี 6 เดือน – 2 ปี เด็กเริ่มที่จะถอดหมวก รองเท้า ถุงเท้าและกางเกงได้เอง สามารถเริ่มฝึกจากการนั่งเพื่อถอดรองเท้า ถุงเท้า กางเกงด้วยตนเอง ช่วยยกแขนขาขณะแต่งตัว            
  • อายุ 2 – 3 ปี เด็กสามารถถอดเสื้อยืดได้ เริ่มถอดกระดุมเม็ดใหญ่ได้ เด็กสามารถใส่ถุงเท้า รองเท้า กางเกงได้ หากเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือนและยังไม่สามารถใส่รองเท้า ถุงเท้าได้เอง แปลว่า มีพัฒนาการด้านสังคมและการ

ช่วยเหลือตนเองล่าช้า

  • อายุ 3 – 4 ปี เด็กจะเริ่มใช้กล้ามเนื้อมือและตาทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เด็กสามารถใส่กระดุมเม็ดใหญ่ได้ ใส่เสื้อยืดได้ เริ่มถอดกระดุมเม็ดเล็กได้ กล้ามเนื้อมัดใหญ่เด็กจะเริ่มยืนขาเดียวได้นานขึ้น ทำให้การใส่กางเกงในท่ายืนทำได้คล่องมากขึ้น
  • อายุ 5 – 7 ปี เด็กสามารถแต่งตัวได้เองอย่างสมบูรณ์

พัฒนาการทั้ง 4 ด้านไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ภาษา และการช่วยเหลือตนเองเป็นสิ่งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งล่าช้าจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นไม่มากก็น้อย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าทักษะการช่วยเหลือตัวเองตามวัยของลูกเป็นอย่างไร จะได้ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ทำอย่างเหมาะสมตามวัยกันนะคะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะช่วยเหลือตัวเองตามวัยเป็นประจำ เด็กๆ จะเกิดความมั่นใจ…หนูทำได้

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123