ถามลูกอย่างไรส่งเสริมพัฒนาการพูด

March 16, 2024

ผ.ส. มุทิตา สุวรรณัง

การถาม-ตอบ เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นความคิด ความจำ ความเข้าใจ เพื่อเพิ่มคำศัพท์ใหม่ ๆ
ให้แก่เด็ก ๆ นำไปใช้ในการสื่อสารโต้ตอบ วันนี้เราจะพามารู้จักกับประเภทของคำถามต่าง ๆ
พัฒนาการด้านความเข้าใจและการตอบคำถามของเด็ก ๆ
รวมถึงเคล็ดลับการถามลูกอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

ประเภทของคำถามแบ่งตามคำถามได้
เป็น 8 อย่าง

  1. What/อะไร หมายถึง คำถามเกี่ยวกับคำนามและคำกริยา
    เช่น การกระทำ สิ่งของ สี วัสดุ
  2. Who/ใคร หมายถึง คำถามเกี่ยวกับบุคคล
    เช่น คน อาชีพ รวมถึงคำแสดงความเป็นเจ้าของ (ของใคร)
  3. Where/ที่ไหน หมายถึง คำถามเกี่ยวกับคำระบุตำแหน่ง สถานที่ หรือสถานที่ตั้ง
  4. When/เมื่อไหร่ หมายถึง คำถามเกี่ยวกับ วัน เวลา ฤดูกาล ช่วงเวลาก่อนหรือหลังจากนั้น
    เช่น กี่โมง เมื่อไหร่
  5. Why/ทำไม,เพราะอะไร หมายถึงคำถามเกี่ยวกับการให้เหตุผล หรือให้คำอธิบาย
  6. Yes/no Question หมายถึงคำถามที่เลือกระหว่างใช่หรือไม่ใช่ อย่างใดอย่างหนึ่ง
    เช่น ใช่หรือไม่ ใช่ไหม เป็นต้น
  7. How/อย่างไร หมายถึงคำถามเกี่ยวกับการให้รายละเอียด
    บอกขั้นตอนวิธีการ หรือให้คำจำกัดความ และการบอกอารมณ์
  8. How/เท่าไหร่ หมายถึงคำถามที่ถามเกี่ยวกับ จำนวน หรือขนาด

พัฒนาการด้านความเข้าใจคำถาม และการตอบคำถามของเด็กแต่ละวัย

  • ช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน-2 ปึ จะเริ่มตอบและสามารถถามคำถามแรกได้คือ คำถาม“อะไร”
  • ช่วงอายุ2-2 ปี 6 เดือน สามารถตอบคำถาม “ใคร ที่ไหน ของใคร กำลังทำอะไร”
    และสามารถถามคำถาม “ที่ไหน ใคร”
  • ช่วงอายุ 2 ปี 6 เดือน-3 ปี สามารถตอบคำถาม “ใช่หรือไม่” และสามารถถามคำถาม “ทำไม” ได้แต่ยังไม่ได้ถามเพื่อต้องการทราบคำตอบที่แท้จริง จะถามไปเรื่อยๆโดยอาจไม่ฟังคำตอบ
  • ช่วงอายุ 3-3 ปี 6 เดือน สามารถตอบคำถาม “ทำไมและอย่างไร” ง่ายๆได้
    และสามารถาม ”ใช่หรือไม่ ได้“
  • ช่วงอายุ 3 ปี 6 เดือน-4 ปี สามารถตอบคำถาม “นานเท่าไหร่ เมื่อไหร่”
  • ช่วงอายุ 4 ปีขึ้นไป สามารถตอบคำถามอย่างไรโดยการบรรยายและให้คำจำกัดความ

เคล็ดลับการถาม

  1. ต้องแน่ใจก่อนว่าลูกมีคำศัพท์ ถ้าคิดว่ายังไม่รู้ต้องสอนคำศัพท์ก่อน โดยใช้วิธี พูดคำนั้นบ่อยๆ แทนการถามซ้ำๆ จะช่วยให้เด็กจำได้เร็วกว่า เช่น อยากสอนคำว่าสับปะรด ให้พูดคำนี้ระหว่างที่เล่น/เลือกกิจกรรมที่มีคำนี้ เช่น “ว้าวสับปะรดน่ากินมาก สับปะรด กินสับปะรดแล้ว สับปะรดอร่อยมาก สับปะรดหวานๆเปรี้ยวๆ” สังเกตว่าจะใช้คำว่าสับปะรดบ่อยๆในขณะที่พูดในประโยค
  2. เลือกสอนคำศัพท์ หรือถามคำถามจากสิ่งที่เด็กให้ความสนใจหรือใกล้ตัวก่อน เนื่องจากเป็นสิ่งที่เด็กใช้หรือเห็นทุกวันจะทำให้เพิ่มคำกลุ่มนี้ได้ง่ายที่สุด และหากเด็กสนใจหรือชอบสิ่งไหนเริ่มจากสิ่งนั้น แล้วค่อยๆขยายคำศัพท์ออกไปไกลตัวขึ้นเรื่อยๆ
    เช่น สิ่งของในบ้าน—>กริยาการกระทำ—>ชื่อคนในบ้าน—>อาหาร/ผัก/ผลไม้—> สัตว์เลี้ยง—>ชื่อสถานที่—>ชื่อญาติๆ—>สิ่งที่เห็นตอนไปเที่ยว—>สัตว์ป่า/สัตว์น้ำ เป็นต้น
  3. เลือกใช้น้ำเสียงสบายๆในการถาม ไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป ใช้น้ำเสียงสื่อสารให้เด็กสนใจอยากรู้อยากตอบ จำไว้ว่าเป้าหมายในการสอนคำศัพท์เพื่อเพิ่มคำให้ลูกมากขึ้น ไม่ใช่การทดสอบ
  4. ตั้งคำถามที่เหมาะสมกับช่วงวัย ไม่ยากเกินไปจนเด็กตอบไม่ได้ หรือง่ายเกินไปเด็กๆจนไม่อยากตอบแล้ว
  5. รอคอยคำตอบจากเด็ก เมื่อถามคำถามแล้วต้องรู้จักรอให้เด็กๆคิดคำตอบก่อน ทำท่าทางสนใจและอาจจะใช้วิธีนับ1-10 ในใจรอ หากเด็กตอบไม่ได้ ค่อยให้ตัวเลือก หรือเฉลยคำตอบ
  6. ขณะเล่นเน้นเล่นสนุก ไม่ถามคำถามประเภท “นี่อะไร”บ่อยๆ เพราะจะทำให้ไม่สนุกเช่น กำลังเล่นขายของ “นี่อะไรๆๆๆๆ“ ชี้ถามไปหมดทุกอย่าง เด็กๆจะหมดความสนใจและไม่มีช่วงเวลาในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เด็กเล่นและทำกิจกรรมโดยเราพูดพากย์การกระทำที่เด็กๆทำอยู่แทน เช่น “ใส่หม้อด้วย ทำกับข้าวๆ ว้าวหอมจัง ฟักทองเสร็จแล้ว ใส่จานแล้ว ร้อนนะเนี่ย” เป็นต้น เพิ่มรูปวลี-ประโยคเข้าไปให้เด็กจำมาลองใช้บ้าง และอาจจะถามคำถามประเภทชวนคิด สร้างอุปสรรคขึ้นมาให้แก้ไขปัญหาง่ายๆ “ทำยังไงดี” เช่น น้ำหกแล้วทำยังไงดี อาหารร้อนจังทำยังไงดี แม่ปากเลอะแล้วทำยังไงดี เป็นต้น
  7. ถามคำถามต่อยอด ให้เชื่อมโยงคำศัพท์ที่เด็กมี เช่น เด็กรู้จักแมว กระตุ้นถามคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับแมวมากขึ้นเช่น อาหารของแมว เสียงร้องของแมว ที่อยู่ของแมว นอกจากจะเพิ่มคำศัพท์แล้วยังช่วยเพิ่มการสื่อสารให้ยาวขึ้นเป็นประโยคได้ด้วย
  8. ถามคำถามอะไรเอ่ย เพื่อกระตุ้นทั้งการฟัง การคิด และการอธิบายได้ เช่น “สัตว์อะไรเอ่ย ตัวใหญ่
    มีงวง มีงา มีขา 4 ข้าง ร้องแปร้นๆ” เด็กต้องมีทักษะการฟังที่ดี คิดตามแล้วจึงตอบออกมา
    เมื่อลูกตอบได้ ลองถามกลับไปว่า“ช้าง มันเป็นยังไงนะ” ให้ลองเด็กๆได้ลองให้คำจำกัดความง่ายๆจากคำบอกของเรา ว่า“ช้าง มีขา4 ข้าง มีงวง มีงา ร้องแปร้นๆ”

การถามคำถามถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ ถามน้อยหรือง่ายเกินไปเด็กก็ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือหากถามมากหรือยากเกินไปเด็กก็จะเกิดความเครียด ความเบื่อหน่าย หรืออาจะทำให้ไม่มั่นใจกลัวการถูกถามได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องรักษาสมดุลระหว่าง การถามคำถาม-การรอคอยคำตอบ-และการขยายคำถามจากง่ายไปยาก ร่วมไปกับการพูดคุยอย่างสบาย ใช้บรรยากาศแห่งความสนุกสนานช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำศัพท์ หรือประโยคใหม่ๆ ก็จะทำให้เป้าหมายในการกระตุ้นการเพิ่มคำศัพท์ เพิ่มการโต้ตอบสื่อสารของลูกบรรลุเป้าหมายได้

ผ.ส. มุทิตา สุวรรณัง
ผส.327