ปรับพฤติกรรมอย่างไรให้ได้ผล 

December 7, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

Highlight

  • ลูกดื้อ โมโหง่าย โตขึ้นเดี๋ยวจะดีเองจริงหรือ
  • การปรับพฤติกรรมอาศัยตัวเสริมแรง (Reinforcer) และการลงโทษ (Punisher)
  • หัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมคือเป้าหมายชัดเจนและความสม่ำเสมอ

พัฒนาการของเด็กๆ ไม่เพียงแต่เติบโตทางร่างกายเท่านั้น แต่พัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมนั้นได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ทำให้ในแต่ละช่วงวัยเด็กๆ จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุ 0 – 6 ปีเป็นช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับความคิด การวางแผน การจัดการอารมณ์นั้นยังพัฒนาได้ไม่ดี ส่งผลให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานเป็นหลัก เด็กๆ จึงจะยังควบคุมตนเองได้ไม่ดีนัก โมโหง่าย ขี้โวยวาย ดื้อ เอาแต่ใจอย่างที่หลายๆ บ้านกำลังประสบปัญหานี้อยู่ คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือลูกให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อย่างดีที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจในพัฒนาการที่เป็นไปตามแต่ละช่วงวัย วิธีการเลี้ยงดูเหมาะสมและรู้จักวิธีการปรับพฤติกรรมจะทำให้เราสามารถรับมือกับพายุลูกดื้อที่กำลังก่อตัวอ่อนกำลังลงกลายเป็นลูกที่น่ารักของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

“เด็กยังเล็กอยู่ปล่อยไปก่อนหน่า“

“ลูกดื้อแบบนี้โตขึ้นเดี๋ยวก็ดีเอง”

“ดุตอนนี้จะไปรู้เรื่องอะไรต้องโอ๋ไว้ก่อนซิ” 

จากประโยคข้างต้นอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ่อย หรือแม้แต่ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะมีแอบคิดว่าลูกดื้ออย่างนี้เราจะปล่อยไปก่อนดีไหมนะลูกยังเล็กอยู่เลย แต่แล้วเพราะเหตุใดเราจึงต้องปรับพฤติกรรม เนื่องจากเด็กๆ อายุ 2 – 6 ปีจะเริ่มไปโรงเรียน ได้เข้าสู่สังคมจริง ได้อยู่กับกลุ่มเพื่อน อยู่ในกฎ กติกา ระเบียบของโรงเรียน เด็กๆ ที่ไม่เคยได้รับการเลี้ยงดูโดยสร้างวินัยเชิงบวก ไม่ได้ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมทำให้เด็กจะเกิดปัญหาเมื่อไปโรงเรียนเช่น ปรับตัวยาก รอคอยไม่เป็น โมโหร้าย แย่งของเล่นจากเพื่อน ดื้อต่อต้าน และอีกมากมายที่จะตามมา ตัวอย่างปัญหาทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ขาดการปรับพฤติกรรมที่จริงจัง หากเรารอวันที่ปัญหานั้นใหญ่จนคุณครูต้องเรียกพบการแก้ไขปัญหาและการปรับพฤติกรรมจะยิ่งมีความยากลำบากและใช้เวลานาน คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มใส่ใจในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและคอยติดตามอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการปรับการเลี้ยงดู ปรับพฤติกรรมก่อนที่จะสายเกินไป

การปรับพฤติกรรรมทำอย่างไร

การปรับพฤติกรรมมีหลายวิธีแต่วิธีส่วนใหญ่ที่ใช้มักจะเป็นแบบการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ ซึ่งมีความเชื่อว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะเปลี่ยนไปเนื่องมาจากผลกรรม (Consequences) ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งผลกรรมที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

1.ผลกรรมที่เป็นตัวเสริมแรง (Reinforcer) จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น

  • การเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) คือการทำให้พฤติกรรมที่เหมาะสมเกิดถี่มากขึ้นโดยเพิ่มสิ่งที่เด็กชอบ ซึ่งสิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ แต่อาจเป็นคำชม ได้ดูการ์ตูนเพิ่มอีก 10 นาที หรือเป็นดาวเพื่อสะสมแต้ม เช่น วันนี้ทำการบ้านเสร็จทุกวิชาจะได้ดูการ์ตูนเพิ่ม 1 ตอน
  • การเสริมแรงทางลบ (Negative reinforcement) คือการทำให้พฤติกรรมที่เหมาะสมเกิดถี่ขึ้นจากการถอดถอนสิ่งเร้าที่ไม่พึงพอใจออกไปได้ แม่บ่นเป็นสิ่งที่เด็กไม่พึงพอใจ เด็กจึงรีบทำงานบ้านให้เสร็จทันเวลาแม่จะได้หยุดบ่น ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมคืองานเสร็จทันเวลา ในการปรับพฤติกรรมนิยมใช้การเสริมแรงทางบวกมากกว่า

ตัวเสริมแรงเป็นอะไรได้บ้าง

  • สิ่งของ/วัตถุเช่น อาหาร ขนม ของเล่น เสื้อผ้า 
  • สังคมเช่น การใช้คำพูด การแสดงออกท่าทางเชิงบวก การชมเชย ยิ้ม แตะสัมผัสตัว 
  • สิ่งของที่ใช้แทนเช่น สะสมเบี้ย แต้ม ดาว คูปอง
  • กิจกรรมเช่น การได้ดูทีวี เล่นเกม
  • การให้ข้อมูลย้อนกลับของผลการกระทำนั้นเช่น คุณครูบอกคะแนนสอบ
  • ภายในตัวบุคคลเช่น ความพอใจ ความภาคภูมิใจ (การเสริมแรงนี้จะไม่เห็นผลเด่นชัด)

2. ผลกรรมที่เป็นตัวลงโทษ (Punisher) จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง ซึ่งการลงโทษจะทำให้พฤติกรรมนั้นถูกระงับเพียงชั่วคราว และวิธีตีหรือทำให้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กให้ปัญหายิ่งบานปลายขึ้น เรามาดูกันค่ะว่าการลงโทษที่เหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร

  • การลงโทษทางบวก (Positive punishment) คือการเพิ่มสิ่งที่เด็กไม่ชอบเข้ามาเมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เช่น เพิ่มการบ้านหากยังไม่เสร็จตามกำหนด
  • การลงโทษทางลบ (Negative punishment) คือการถอดถอนสิ่งที่เด็กชอบออกไปเมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เช่น เด็กทำการบ้านไม่เสร็จตามที่ตกลงกัน จะอดเล่นเกมตามเวลาที่เคยตกลงกัน การตัดแต้มสะสม การทำไทม์เอาท์ (Time out)

การลงโทษนั้นหากทำในเด็กที่ยังเล็ก พัฒนาการเรื่องของความคิดความเข้าใจยังไม่ซับซ้อนพอที่จะเชื่อมโยงพฤติกรรมของตนเองกับบทลงโทษที่เกิดขึ้นได้ การมุ่งเน้นการเสริมแรงทางบวกจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ดี นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมเพื่อให้เด็กๆ หยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นให้ได้เร็วที่สุดแล้วเด็กๆ ควรได้รับแรงเสริมทางบวกเพื่อให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่เหมาะสมเกิดขึ้นมาบ่อยและการปรับพฤติกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมคือ การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายอย่างชัดเจนและเด็กเองก็ร่วมรับรู้ถึงเป้าหมายนี้ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมรวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับการเสริมแรงหรือการลงโทษในปริมาณที่ไม่สม่ำเสมอตามแต่อารมณ์ของผู้ปกครอง การเสริมแรงและการลงโทษควรทำทันทีที่เห็นพฤติกรรมเป้าหมายเพราะหากยืดเวลาออกไปแบบไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนอาจทำให้ประสิทธิภาพการปรับพฤติกรรมนั้นลดลง

ตัวอย่างการปรับพฤติกรรมฉบับคุณพ่อคุณแม่

เหตุการณ์: ลูกไปโรงเรียนสายทุกวัน คุณแม่บ่นก็แล้ว ตีก็แล้วยังไปสายอยู่เลยทำอย่างไรดีคะ(อายุ 4 – 7 ปี)

แนวทางปรับพฤติกรรมและการเลี้ยงดู: สถานการณ์นี้เป็นพฤติกรรมเราต้องการให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นถี่มากขึ้นจะพิจารณาในผลกรรมการเสริมแรง(Reinforcement) วางพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมาย ‘ลูกไปถึงโรงเรียนทันก่อนเพลงชาติขึ้น’ ใช้ตารางดาวสะสมแต้ม อาจร่วมกันวาดตารางสะสมแต้มและกำหนดรางวัลที่จะได้เช่น สะสมครบ 10 ดวงได้ไปเล่นสนามเด็กเล่นชื่อดังในห้าง เมื่อเด็กไปถึงโรงเรียนทันตามกำหนดให้เด็กเป็นคนแปะดาวเอง คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมที่เด็กสามารถทำได้ในแต่ละครั้ง หากครั้งนี้ยังไปไม่ทันให้กำลังใจเด็กในการสะสมดาวต่อไป ร่วมกับการปรับการเลี้ยงดู ปรับตารางการเข้านอนและตื่นนอนเพื่อส่งเสริมให้เด็กไปโรงเรียนได้ทันเวลา

เหตุการณ์: ลูกไม่เก็บของเล่น

แนวทางการปรับพฤติกรรมและการเลี้ยงดู: สถานการณ์นี้เป็นพฤติกรรมเราต้องการให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นถี่มากขึ้นจะพิจารณาในผลกรรมการเสริมแรง(Reinforcement) วางพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมาย ‘เด็กเก็บของเล่นเข้าที่หลังเล่นเสร็จ’ ในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ปี เน้นการจับมือทำอย่างสม่ำเสมอ พาเก็บ ชวนเก็บทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ ให้ตัวเสริมแรงเป็นคำชม การแสดงออกผ่านท่าทางทุกครั้ง และค่อยๆ ลดการจับทำเพื่อให้เด็กเกิดพฤติกรรมเก็บของเล่นได้เอง ในเด็กที่อายุ 4 ปีขึ้นไป การเสริมแรงทางสังคมยังคงที่อยู่และอาจเริ่มมีการวางบทลงโทษที่ตกลงกันก่อนเช่น หากไม่เก็บของเล่นชิ้นไหน ชิ้นนั้นจะถูกงดเล่น…วัน (Negative punishment) หรือหากไม่เก็บของเล่นจะต้องช่วยงานบ้านเพิ่ม (Positive punishment) คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกติกาที่ไม่ยากจนเกินไป สามารถทำได้จริง อาจให้เด็กๆ ช่วยคิดได้ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองเก็บของเล่นเข้าที่ได้ทุกครั้ง ปรับการเลี้ยงดูโดยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเก็บของเล่นเช่นหามุม โต๊ะ หรือชั้นวางเตี้ยๆสำหรับเด็ก

เหตุการณ์: ลูกอยากได้ของเล่นในห้าง ไม่พอใจจะดื้อต่อต้าน พูดไม่ฟังและลงไปดิ้นที่พื้น

แนวทางการปรับพฤติกรรมและการเลี้ยงดู: สถานการณ์นี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และเราต้องการยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นจะพิจารณาในผลกรรมการลงโทษ (Punishment) หากในสถานการณ์นั้นเราสามารถเพิกเฉยและรอได้ให้รอจนกว่าเขาจะสงบ แต่หากเกิดการดื้อต่อต้าน อาละวาดและดูเป็นอันตรายต่อตัวเด็กและสิ่งแวดล้อมให้พาออกมาในที่ที่ปลอดภัยและรอเด็กสงบเช่นเดิม ไม่ควรตามใจหรือให้สิ่งที่น่าสนใจเช่นขนมหรือมือถือเพื่อทำให้หยุดร้องเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เด็กชอบ = เป็นตัวเสริมแรง = ทำให้เด็กมีพฤติกรรมร้องโวยวายมากขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถชี้ชวนดูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ เมื่อเด็กสงบให้คำชมถึงพฤติกรรมเช่น “แม่ดีใจที่หนูพูดเบาลงแล้วนะคะ” และการป้องกันสถานการณ์ในครั้งถัดไป กำหนดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์คือ ลงไปดิ้นที่พื้นเพื่อเอาของเล่น หากเกิดขึ้นแม่พากลับไปนั่งสงบที่รถทันที ร่วมกับการเสริมแรงทางบวก ชื่นชมถึงพฤติกรรมหากวันนี้เดินผ่านโซนของเล่นได้โดยไม่งอแง “แม่ดีใจที่วันนี้ลูกเดินผ่านของเล่นไม่ร้องไห้/แม่ดีใจที่วันนี้ลูกอยากได้ของเล่นแล้วบอกแม่เบาๆ”

การปรับพฤติกรรมและการเลี้ยงดูอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการรับมือเด็กดื้อ หากไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนครูหนูดีขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลงไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของเด็กๆ ให้มากขึ้น สร้างสายสัมพันธ์ให้แข็งแรง สังเกตหาข้อดีในตัวเขาและชื่นชมในพฤติกรรมนั้น เลือกพฤติกรรมที่อยากจะปรับ 1 อย่างเพื่อให้เราสามารถใส่ใจและสังเกตพฤติกรรมเป้าหมายได้ดีขึ้น คุณครูขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่มีพลังในการรับมือลูกดื้อให้กลายเป็นเด็กน่ารักสดใสสมวัยค่ะ

เอกสารอ้างอิง

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. (2556). ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม (พิมพ์ครั้งที่ 8). สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123