วิ่งเพื่อน้องออทิสติก (ASD)

September 11, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

กลุ่มอาการออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder: ASD)

“Run Together for Autism วิ่งด้วยกัน รันเพื่อ…น้อง” 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมคุณครูเซ้นเซได้ไปร่วมงาน “Run Together for Autism วิ่งด้วยกัน รันเพื่อ…น้อง” จัดขึ้นโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ Beyond The Spectrum เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ สร้างสังคมแห่งความสุขของการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างยั่งยืนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนการเรียนร่วมของเด็กออทิสติกในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และ มหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม งานนี้นอกจากคุณครูไปร่วมงานวิ่งเพื่อสุขภาพแล้วยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจความแตกต่าง (Inclusive society) บรรยากาศในงานสนุกมากเลยค่ะ ได้เห็นเด็กๆ ที่มีความหลากหลายและความต้องการเฉพาะด้านที่แตกต่างกันแต่ร่วมเดินไปในเส้นทางเดียวกัน มีทั้งเดินข้างกันไป จับมือกันไปสู่จุดหมายที่เป็นเป็นเส้นชัยเดียวกัน คงจะเหมือนกับเส้นทางของเด็กๆ ทุกคนบนโลกใบนี้ที่จะได้เติบโตออกไปสู่สังคม สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และคงจะดีไม่น้อยหากคนในสังคมมีความเข้าใจในความหลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกัน

กลุ่มอาการออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder: ASD) คืออะไร

กลุ่มอาการออทิสติก

กลุ่มอาการออทิสติก เป็นโรคทางพัฒนาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งทำให้มีอาการแสดงออกมาเป็นความบกพร่องในการใช้ภาษาสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีความผิดปกติของพฤติกรรมและความสนใจที่มีความจำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ สาเหตุการเกิดโรคออทิสติกอาจมาได้จากหลายปัจจัยอื่นๆ ร่วมกันดังนี้

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม: มีการศึกษาพบว่าอัตราการเกิดโรคออทิสติกในคู่แฝดไข่ใบเดียวกันสูงถึงร้อยละ 60 – 90 และมีโอกาสการเกิดโรคซ้ำในลูกคนถัดไปได้ร้อยละ 3 – 8
  2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม: มีข้อสันนิษฐานเช่น โรคออทิสติกอาจเกิดจากการได้รับสารเคมี การติดเขื้อ แต่ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ
  3. สาเหตุจากโรคอื่น: โรคที่พบกลุ่มอาการออทิสติกร่วมได้บ่อยคือโรค Fragile X syndrome 

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายกลุ่มอาการออทิสติก

ความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

อาการด้านนี้สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 12 – 18 เดือน โดยอาการแสดงคือไม่ค่อยสบตา ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ ไม่ใช้การแสดงท่าทางในการปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับผู้อื่น ไม่มีความสนใจร่วมกัน รวมถึงการเล่นเลียนแบบเช่นป้อนข้าวตุ๊กตา ที่เด็กๆสามารถทำได้ในช่วงอายุ 18 เดือน นอกจากนี้เด็กกลุ่มโรคออทิสติกจะไม่ค่อยกลัวคนแปลกหน้า (Stranger anxiety) และวิตกกังวลจากการแยกจาก (Seperation anxiety) ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะมีภาวะนี้ตามพัฒนาการและค่อยๆ ดีขึ้นตามอายุ ในเด็กบางคนที่มีอาการน้อยอาจเห็นปัญหาด้านนี้เมื่อเข้าโรงเรียนเช่น เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่เข้าใจความรู้สึกของเพื่อน

ความบกพร่องด้านการสื่อสาร

เด็กกลุ่มออทิสติกจะมีภาษาที่ล่าช้ากว่าวัย พูดได้น้อย พูดเป็นภาษาที่ฟังไม่เข้าใจ หรือพูดประโยคที่เคยได้ยินมาโดยไม่สื่อความหมาย นอกจากภาษาพูดแล้วเด็กกลุ่มนี้จะบกพร่องด้านการใช้ท่าทางร่วมด้วยเช่น ไม่ชี้เมื่ออยากได้ของชิ้นนั้น ไม่แสดงออกทางสีหน้า ในเด็กที่สามารถสื่อสารได้มักพบการเรียงลำดับข้อความไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจมุกตลกที่เพื่อนเล่น หรือพูดซ้ำๆในสิ่งที่ตนเองสนใจมากกว่า ไม่สนใจคู่สนทนา

พฤติกรรมและความสนใจที่จำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ

เด็กจะสนใจในสิ่งที่ตนเองชอบ หมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้นๆ มากเกินไปหรือสนใจสิ่งที่เป็นปลีกย่อยของสิ่งของมากเป็นพิเศษ เช่น เมื่อเด็กเล่นรถ เด็กอาจสนใจชิ้นส่วนของรถ แกะชิ้นส่วน จับเอาล้อรถมาปั่นเล่นซ้ำๆ แทนการเล่นรถไถไปตามทางและเล่นตามจินตนาการ นอกจากนี้การทำกิจวัตรประจำวันที่มีการปรับเปลี่ยนแผนการเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กออทิสติก เช่น การเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน เปลี่ยนชุดจานช้อนรับประทานอาหาร ปรับลำดับขั้นตอนการทำกิจกรรม

            นอกจากนี้เด็กออทิสติกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการปรับระดับสิ่งเร้าที่เข้ามาทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมหลีกหนีหรือแสวงหาสิ่งเร้านั้นผิดปกติไปเช่น หมุนตัว สะบัดข้อมือ นั่งโยกไปมา

ออทิสติก ≠ เอ๋อ

หลายท่านที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กๆ กลุ่มอาการออทิสติกอาจยังมีความเข้าใจคลานเคลื่อนว่าเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกจะต้องมีความบกพร่องทางเชาว์นปัญญา นั่งอยู่คนเดียว ไม่สามารถพูดสื่อสารหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แต่ในความจริงแล้วนั้นเด็กออทิสติกที่มีอาการน้อยมีระดับเชาว์นปัญญาปกติ สามารถเรียนรู้ได้จนจบปริญญาและสามารถทำงานได้ นอกจากนี้บางรายอาจมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวด้านดนตรี ศิลปะ หรือการคิดเลข ที่เรียกว่า “Savant skill” ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยส่วนน้อย

แล้วเราจะมีส่วนร่วมและอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

คุณครูที่เซ้นเซได้ดูแลเด็กๆออทิสติกอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายของคุณครู อยากให้เด็กๆได้ออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเองให้มากที่สุดตามศักยภาพที่เด็กสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียน การทำงาน การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม และสังคมได้ทำการต้อนรับพวกเขาที่พร้อมตั้งใจจะเรียนรู้โลกใบใหญ่นี้ ในทุกความแตกต่างของมนุษย์เปรียบเสมือนลายเซ็นที่เป็นของเฉพาะบุคคล ทุกลายเซ็นมีความสวยงามในตัวเอง

ในเด็กออทิสติกก็เช่นเดียวกัน หากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคออทิสติกมากขึ้น เมื่อเราได้พบเจอกับเด็กๆกลุ่มนี้ เราจะเข้าใจในตัวของเขา เข้าใจในพฤติกรรมที่แสดงออกมาและค่อยๆให้เวลาเด็กๆ ในปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกันอย่างเหมาะสม

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123