สร้างวินัยอย่างไรได้ใจลูก

December 7, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

วินัยเชิงบวกคืออะไร

วินัยเชิงบวก (Positive discipline) คือวิธีการที่จะสอนให้เด็กๆ รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อตนเอง ส่วนรวมในบ้าน หรือต่อสังคม โดยเราจะเน้นการลงมือทำให้ดู ฝึกให้เด็กคิดและตัดสินใจลงมือทำได้เอง มีการคิดเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าการจำยอมทำตามกฎกติกาที่ถูกบังคับโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมา การสอนด้วยวินัยเชิงบวกนี้คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทเป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้างเด็กๆ สนับสนุน เชื่อมั่นในความสามารถของเขา ชื่นชมเมื่อเด็กๆมีความพยายาม ตั้งใจทำ ไม่ลงโทษเชิงลบเช่น การดุ ด่า ตี ซึ่งเราสามารถใช้วินัยเชิงบวกได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กและมาดูกันค่ะว่า กว่าที่เด็ก 1 คนจะเป็นคนที่มีวินัย รู้จักหน้าที่ของตนเองนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ค่อยๆมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

Connect before correct

เชื่อมโยงความสัมพันธ์ก่อนที่จะแก้ไข ก่อนที่เราจะเริ่มแก้ไขหรือจะสอนเด็กคนหนึ่งให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมกับวินัยเชิงบวกเราต้องเริ่มจากการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กก่อนเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อใจ เด็กๆ จึงจะพร้อมรับฟังเมื่อเราชี้แนะสิ่งที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสร้างสายสัมพันธ์ได้ตั้งแต่วันแรกที่เด็กลืมตาดูโลกผ่านการเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือดูแลเด็ก โอบอุ้มยามที่เด็กร้องไห้ หากเมื่อเด็กโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงานเราสามารถใช้เวลาหลังเลิกงานหรือทุกช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันเป็นเวลาแห่งคุณภาพสำหรับการทำกิจกรรมร่วมกัน พาทำกิจวัตรประจำวัน เพราะเวลาคุณภาพมีความสำคัญอยู่ที่เราใช้เวลานั้นอย่างไรมากกว่าเราใช้เวลาไปนานแค่ไหน หากเราสามารถเชื่อมโยงกับหัวใจของเด็กๆได้ การสร้างวินัยเชิงบวกไม่ยากเกินไปสำหรับคุณพ่อคุณแม่แน่ค่ะ

สื่อสารอย่างตรงใจ

ทักษะการสื่อสารเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญของการสร้างวินัยเชิงบวกที่จะทำให้เราทุกคนเกิดความเชื่อมโยงกัน เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจระหว่างกัน คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยิน I Message You Message ไหมคะ การสื่อสารแบบ I Message ผู้พูดจะต้องบอกความรู้สึกหรือความต้องการของตนเองต่อเหตุการณ์ที่เราอยากจะให้เด็กแก้ไข เด็กๆจะต้องเกิดกระบวนการคิดที่จะแก้ไขด้วยตนเองในทางที่เรายอมรับได้

            วิธีการเริ่มสื่อสารแบบ I Message คุณพ่อคุณแม่สื่อสารเริ่มต้นที่ตัวเรา ความรู้สึกของเราแล้วต่อท้ายด้วยการกระทำของลูก ตัวอย่างเหตุการณ์ ลูกเล่นเลโก้กระจายอยู่ทั่วพื้นแม่เดินไปเหยียบเลโก้บนพื้น จึงเดินไปหาลูกพร้อมพูดว่า…  “แม่รู้สึกหงุดหงิดที่หนูไม่เก็บของเล่นให้เข้าที่หลังเล่นเสร็จเพราะมันอาจจะทำให้คนอื่นบาดเจ็บได้” หากเด็กอยู่ช่วงวัยรุ่นมีพฤติกรรมที่เราเป็นห่วงมากขึ้นหรือบางพฤติกรรมที่เตือนแล้วยังทำซ้ำๆ อาจจะลองนำ I Message เช่น “พ่อกังวลมากเลยที่หนูกลับบ้านดึก เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ฟังได้ไหม” “แม่เป็นห่วงและไม่สบายใจที่ลูกโดดเรียนวันนี้” คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและฝึกพูดประโยค I Message อย่างสม่ำเสมอเพื่อสื่อสารได้อย่างเข้าใจกัน เพิ่มความรู้สึกเชิงบวกทำให้เด็กๆ อยากแก้ไขพฤติกรรมนั้นมากขึ้น

อายุเท่าไหร่ควรเริ่มวินัยเชิงบวก

            วินัยเชิงบวกเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ในช่วงที่เด็กยังเป็นทารก 0 – 1 ปี เด็กๆจะยังช่วยเหลือตนเองได้ไม่มาก คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สร้างตารางชีวิตประจำวัน เวลาตื่น เวลาเข้านอน เวลาอาหาร และการทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอในทุกวัน ทำให้เด็กสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ เมื่อเด็กโตขึ้นอายุ 1 – 3 ขวบ เริ่มที่จะมีความรับผิดชอบต่อตนเองได้เพิ่มขึ้น เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารเอง เริ่มถอดเสื้อผ้านำไปใส่ตะกร้าได้ เมื่อเดินคล่องช่วยเก็บของเล่นเข้าที่หลังเล่นเสร็จได้ อายุ 3 – 5 ปี เด็กดูแลตนเองได้ดีขึ้นและเริ่มที่จะรับผิดชอบต่อส่วนรวมในบ้านได้เช่น ช่วยเตรียมอาหารร่วมกัน ช่วยถูพื้น กรอกน้ำเข้าตู้เย็น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยประถมเด็กๆ เริ่มจัดกระเป๋าไปโรงเรียนเอง แต่งตัวได้เอง ดูแลห้องนอน ซักเสื้อผ้าหรือถุงเท้า หากเราวางกิจวัตรประจำวันให้ลูกเป็นระเบียบ คาดเดาได้เด็กจะคุ้นเคยกับตารางชีวิตและทำจนเป็นนิสัย นอกจากการมอบหมายงานดูแลตัวเอง ดูแลส่วนรวมในบ้าน การสื่อสารที่ตรงกันจะช่วยให้เด็กๆเข้าใจว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นจะส่งผลดีต่อใครบ้าง

ลูกโตแล้วเริ่มตอนนี้จะสายไปไหม

คุณครูเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองไปในทางที่ดีขึ้นได้หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นที่จะปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิมที่เคยทำมา การสร้างวินัยเชิงบวกช่วงแรกเน้นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น ลดการตัดสิน เพิ่มการรับฟัง เมื่อเรารับฟังเด็ก เด็กๆจะรับฟังเรา ค่อยๆปรับเข้าหากันทีละเล็กละน้อย ผลที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มลงมือทำในวันนี้ย่อมดีกว่าเมื่อวานที่เราไม่ได้ทำอะไรเลยนะคะ

วินัยที่ดี เริ่มต้นที่บ้าน

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123