โรคการเรียนรู้บกพร่อง LD 

August 15, 2024

กบ. ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์

โรคการเรียนรู้บกพร่อง LD (Learning Disability)

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ทีมคุณครูนักบำบัดจากเซ้น เซ มีโอกาสได้ไปบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง “โรคการเรียนรู้บกพร่อง” หรือภาษาอังกฤษ คือ Learning Disability ที่ศูนย์บริการเพื่อบุคคลพิเศษอรุโณทัยโดยสมาคมออทิสติกสามัคคีไทย บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน เปิดด้วยกิจกรรมกระตุ้นสมอง Active learning เล่นเกมส์ถามตอบง่าย ๆ และ กิจกรรมคิดคำคล้องจอง ก่อนนำเข้าสู่เนื้อหาเรื่องโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability)

            เด็ก ๆ  ที่คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) ไม่ใช่เด็กไม่ฉลาดหรือเด็กขี้เกียจ แต่เป็นโรคทางสมอง ทำให้น้อง ๆ กลุ่มนี้มีความยากลำบากทางการเรียนมากกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วจะสามารถวินิจฉัยได้ตอนอยู่ประถมศึกษาไปที่ 3 คือเด็กจะมีความสามารถทางการเรียนต่ำกว่าเด็กอื่นที่อายุเท่ากันและ มีความสามารถทางการเรียนต่ำกว่าระดับชั้นที่ตนเองอยู่อย่างน้อย 2 ชั้นปี ทั้ง ๆ ที่เด็กมีสติปัญญาปกติ ในเด็กไทยพบได้ร้อยละ 6-10 ของเด็กวัยเรียน

            โรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 

  1. ความบกพร่องด้านการอ่าน (Dyslexia) ด้านนี้พบได้มากที่สุดในกลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) คือ เด็ก ๆ จะมีความยากลำบากในการจดจำตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ และพยัญชนะต่าง ๆ ขาดทักษะในการสะกดคำ อ่านออกเสียงผิดเพี้ยนไป อ่านข้าม อ่านเพิ่ม หรืออ่านแล้วจับใจความไม่ได้
  2. ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ (Dysgraphia) ในด้านนี้มักจะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็ก ๆ มักมีปัญหาจำตัวอักษรไม่ได้ หรือบางครั้งเรียงตัวอักษรสลับไปมา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องการจะเขียนคำว่าอะไร เด็กจึงไม่สามารถเขียนได้สมกับช่วงวัย
  3. ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์  (Dyscalculia) เด็กขาดความเข้าใจเรื่องของตัวเลข สูตรคูณ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณตามหลักการทางคณิตศาสตร์ได้

เด็กกลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) บางครั้งอาจถูกเข้าใจว่า เป็นเด็กดื้อ ไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ แต่จริง ๆ โรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) เกิดจากการ

  • ทำงานที่บกพร่องของสมองโดยเฉพาะในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา
  • กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติทางโครโมโซม จากการเจ็บป่วย บาดเจ็บระหว่างตั้งครรภ์ การขาดออกซิเจน ภาวะคลอดก่อนหรือหลังคลอด
  • สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อการเกิดพัฒนาการในช่วงแรกเริ่มของชีวิต  เช่น การถูกทอดทิ้ง การไม่ได้รับการสนับสนุนทางจิตสังคม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดควาบกพร่องทางการเรียนรู้ได้

หลังจากทีมคุณครูนักบำบัดจากเซ้น เซ สหคลินิก และคุณครูที่ศูนย์บริการเพื่อบุคคลพิเศษอรุโณทัยโดยสมาคมออทิสติกสามัคคีไทยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) พวกเราต่างตกผลึกได้ว่า จริง ๆ แล้วปัญหาของเด็กโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) คนทั่วไปอาจจะมองว่า มีแค่เรื่องเรียนเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อเด็ก ๆ มีปัญหาการเรียนในวัยที่โตขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ขาดความมั่นใจ ไม่สามารถเข้าสังคมได้ หรือบางครั้งอาจโดนเพื่อนล้อ ก็ทำให้มีปัญหาด้านการเข้าสังคมตามมา เราในฐานะ ผู้บำบัด คุณครู และผู้ปกครอง มีส่วนช่วยเหลือเด็ก ๆ กลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) ได้ดังนี้

  1. หากเด็ก ๆ อยู่ในโรงเรียนเรียนปกติ และไม่สามารถเรียนตามเพื่อน ๆ ได้ ควรจัดให้มีแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP)เป็นแผนการเรียนที่ออกแบบและพัฒนาร่วมกันระหว่าง คุณครู โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักบำบัด เพื่อออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะและเอื้อกับการเรียนรู้ของบุคคลนั้น ๆ มากที่สุด
  2. หากิจกรรมหลากหลายให้เด็ก ๆ ได้ลองทำ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำอาหาร เป็นต้น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาตัวเอง หากเด็ก ๆ ชอบ ผู้ปกครองก็ควรส่งเสริมความสามารถด้านนั้น ๆ ต่อ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตนเอง และส่งเสริมให้เขาสามารถต่อยอดได้ต่อไป
  3. พบผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เพื่อค้นหาปัญหาซ่อนเร็น เนื่องจากเด็ก ๆ กลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) จะมีปัญหาในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขา เช่น การออกเสียงไม่ชัด แยกเสียงในภาษาไม่ได้ ปัญหาการเล่าเรื่อง มีปัญหาการบรูณการระบบประสาทความรู้สึก (Sensory integration) การรับรู้ความเข้าใจ (Perception) เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องพบนักกิจกรรมบำบัด และนักแก้ไขการพูด เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะช่วยให้เด็ก ๆ กลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
  4. ผู้ดูแล คุณครู รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรมั่นให้แรงเสริม เช่น คำชมทางบวกกับผู้เขา ชื่นชมให้ถึงแก่นที่เด็ก ๆ ตั้งใจทำ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ตั้งเป้าหมายให้เขา โดยไม่กดดันจนเกินไป เท่านี้ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ กลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) มีความมั่นใจมากขึ้น

โดยสรุป ปัญหาของเด็กกลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) ไม่ได้มีแค่ปัญหาการเรียนเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว หากสังคมหรือคนที่อยู่รอบตัวไม่เข้าใจ อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เพราะเมื่อเด็ก ๆเริ่มไม่มีความมั่นใจในการเข้าสังคมจะหลีกหลีการเข้าสังคม อาจถูกเพื่อนล้อ ครอบครัวกดดันเรื่องการเรียน ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าที่จำทำสิ่งใหม่ ๆ หรือบางคนอาจกลายเป็นเด็กเกเร เพื่อเรียกร้องความสนใจ 

หากผู้ปกครองท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเด็กกลุ่มโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability) หรือต้องการปรึกษาปัญหาการเรียนของของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามที่ เซ้น เซ สหคลินิกได้ คลินิกของเราเปิดให้บริการ 2 วิชาชีพ ได้แก่ นักกิจกรรมบำบัด และนักแก้ไขการพูด มีใบประกอบโรคศิลปะถูกต้องสามารถพาน้อง ๆ เข้ามาประเมินพัฒนาการเพื่อค้นหาปัญหาที่ผู้ปกครองกังวล และบำบัด เพราะพัฒนาลูกรอไม่ได้ ทีมนักกิจกรรมบำบัด และนักแก้ไขการพูด เซ้น เซ สหคลินิกยินดีให้บริการ 

กบ. ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์
กบ.1115