พัฒนาการด้านการออกเสียง

February 23, 2024

ผ.ส. มุทิตา สุวรรณัง

ว่าด้วยเรื่องของเสียงพูดไม่ชัด

ในวัยหัดพูดเด็กๆอาจจะมีเสียงพูดไม่ชัดได้ตามวัยค่ะ แต่ทราบหรือไม่ว่าเสียงในภาษาไทยมีเกณฑ์ในการพิจารณาเสียงพูดไม่ชัดอยู่วันนี้ Sense Say clinic มีคำตอบมาให้ค่ะ

จากตารางพัฒนาการด้านการออกเสียงเราสามารถใช้สังเกตตามอายุดังกล่าวได้ว่าเด็กควรพูดเสียงใดได้แล้วบ้าง นอกจากนี้เราสามารถฟังความชัดในการออกเสียงขณะเด็กพูดสนทนาได้ โดย เด็กอายุ 4 ปี เราต้องฟังเข้าใจที่เด็กพูดได้ชัดประมาณ 80% (speech intelligibility) หากไม่เป็นไปตามพัฒนาการดังกล่าว เด็กอาจมีพัฒนาการด้านการออกเสียงล่าช้ากว่าวัยเดียวกัน หรือที่เรียกว่าพูดไม่ชัด

ลักษณะการพูดไม่ชัด แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. Sunstitutions พูดแบบใช้เสียงแทน คือ ใช้เสียงสระหรือพยัญชนะอื่นมาแทนอีกคำ เช่น ใช้ เสียง อ. แทน ก. จาก กิน เป็น อิน หรือ ใช้เสียงสระอื่นแทนเช่น กิน เป็น เกน
  2. Omissions พูดแบบละเสียงบางส่วน เช่น คำว่า กิน เป็น กิ หรือ นอน เป็น นอ
  3. Distortions พูดเสียงผิดเพี้ยนไปไม่ตรงกับสระหรือพยัญชนะใด
  4. Additions พูดแบบเติมเสียงอื่นเข้ามาเพิ่ม เช่น แมว เป็น มะแอว หรือ นอน เป็น นะออน เป็นต้น

สาเหตุของการพูดไม่ชัด

  1. มีความผิดปกติทางโครงสร้าง หรือการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูด เช่น
    -ปากแหว่งเพดานโหว่
    -กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    -โครงสร้างในช่องปากไม่สมบูรณ์ ทั้ง ลิ้น เพดานปากสูงเกินไป
    -ฟันและการสบฟันผิดปกติ
    -ลิ้นไก่แยก(เกิดจาก submucous cleft)
    -เอ็นยึดใต้ลิ้นสั้น
  2. ไม่มีความผิดปกติทางโครงสร้างหรือการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการพูด แต่มีปัญหาอื่นๆที่ส่งผลต่อการเรียนรู้การออกเสียง ได้แก่
    -เด็กที่สูญเสียการได้ยิน
    -สูญเสียการมองเห็น
    -มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
    -มีปัญหาสมาธิสั้น
    -มีภาวะการควบคุมโปรแกรมการพูดผิดปกติ (apraxia of speech)
    ทำให้เด็กเรียนรู้การออกเสียงได้ยากลำบาก และหรือได้ยินเสียงพูดผิดพลาดไป
  3. เกิดจากการเรียนรู้ไม่ถูกต้อง กลุ่มนี้โครงสร้างและการทำงานของอวัยวะทุกอย่างปกติ แต่พูดไม่ชัดจากปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม คนใกล้ชิดพูดไม่ชัด หรือ ไม่เคยได้รับการกระตุ้นการออกเสียงที่ถูกต้อง ทำให้เด็กเรียนรู้การออกเสียงมาอย่างไม่ถูกต้อง

หากเด็กพูดไม่ชัดทำอย่างไร?


ช่วง1-3 ปี แนะนำให้ผู้ดูแลกระตุ้นการออกเสียงอย่างถูกต้องด้วยตนเองก่อน เช่น พูดช้า ไม่ยาวจนเกินไปและชัดเจนทุกเสียงเมื่อคุยกับเด็กๆ แต่หากเลย3 ปีแล้วยังฟังยาก ไม่ชัดมากแนะนำให้พบนักแก้ไขการพูดเพื่อฝึกกระตุ้นโดยนักแก้ไขการพูดจะประเมินเสียงพูดไม่ชัดก่อนค่ะ หลังจากนั้นจะเริ่มฝึกออกเสียง นักแก้ไขการพูดเลือกเสียงที่เด็กสามารถกระตุ้นได้ มาฝึกก่อนตามความเหมาะสม โดยฝึกการวางตำแหน่งฐานเสียงต่างๆ และการเปล่งเสียงให้ถูกต้อง ร่วมกับการฝึกบริกหารอวัยวะที่ใช้ในการพูด

ใช้เวลานานเท่าไหร่ในการฝึก?


เป็นคำถามที่พบบ่อยๆจากผู้ปกครอง โดยการฝึกเสียงพูดไม่ชัด 1 เสียง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ค่ะแล้วแต่ความสามารถของเด็ก การฝึกซ้อมออกเสียงอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยให้เด็กสามารถออกเสียงแต่ละเสียงได้เร็วขึ้นค่ะ


Fun fact : สระไทยมี 21 เสียง และ พยัญชนะไทยมี 21 เสียงค่ะ (นับจากเสียง ซึ่งแตกต่างจากตัวอักษร)

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามและหากต้องการประเมินเสียงพูดไม่ชัดเพิ่มเติมอย่างละเอียด
สามารถทำนัดเข้ามาพบครูตองที่คลินิกได้เลยค่ะ
แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ

ผ.ส. มุทิตา สุวรรณัง
ผส.327