วัยทอง วัยว้าวุ่น

December 7, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

“หนูไม่ทำ”

“หนูไม่เอา”

“ไม่ ไม่ ไม่” 

และอีกหลายไม่ตลอดทั้งวัน คุณพ่อคุณแม่คงจะมีภาพเจ้าตัวเล็กที่บ้านลอยเข้ามาเลยนะคะว่าช่วงเวลาหนึ่งเด็กๆ จะพร้อมจะปฏิเสธเราได้ตลอดเวลา บางคนก็บอกว่านี่แหล่ะคือ “วัยทอง 2 ขวบ” แล้ววัยทอง 2 ขวบมาได้อย่างไรกัน ทำไมต้องเริ่มที่ 2 ขวบ เป็นแล้วจะหายไหมมาดูกันค่ะ

เพราะอะไรเจ้าตัวเล็กจึงเป็น “วัยทอง 2 ขวบ”

เด็กๆ วัย 2 ขวบเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการทางด้านร่างกายพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากช่วงขวบปีแรกที่ยังทำอะไรได้ไม่มาก จากเดิมที่ค่อยๆ เดินเตาะแตะ ล้มง่าย เด็กๆ จะสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและรวดเร็วขึ้น เริ่มกระโดดได้ มือน้อยๆ ทั้ง 2 หยิบจับของได้มั่นคงมากขึ้น หยิบอาหารเข้าปากได้ นอกจากนี้ทักษะการช่วยเหลือตัวเองเริ่มทำเองได้มากขึ้นทั้งใช้ช้อน/ส้อมรับประทานอาหารเอง ถอดเสื้อผ้าง่ายๆ ได้ ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกที่จะได้ทำทุกอย่างด้วยตนเอง นอกจากนี้เด็กยังมีการพัฒนาความเป็นตัวตนโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ด้วยพัฒนาการด้านภาษาจะสื่อสารได้ไม่มาก พูด 2 คำติดกันได้เป็นประโยคง่ายๆ ทำให้เด็กๆ ยังไม่เก่งพอที่จะเล่าหรือบอกในสิ่งที่ตนเองคิดได้ ทำให้พฤติกรรมที่ออกมาเป็นพฤติกรรมต่อต้าน ชอบปฏิเสธ ร้องอาละวาด (Temper tantrum) อารมณ์ขึ้นลงได้ง่ายและรวดเร็ว คล้ายกับผู้ใหญ่ที่เข้าสู่ช่วงวัยทองเลยค่ะ 

ในทางพัฒนาการแล้ววัยทอง 2 ขวบ เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะแสดงพฤติกรรม ความรุนแรงออกมากแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง แบ่งได้เป็น 

  1. ปัจจัยจากตัวเด็ก: พื้นอารมณ์ปรับตัวยาก พัฒนาการไม่สมวัยโดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าจะทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ หงุดหงิดมากขึ้นเนื่องจากสื่อสารบอกความต้องการไม่ได้
  2. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม: การเลี้ยงดูของผู้ปกครองเป็นแบบเข้มงวดหรือปล่อยปะละเลย ไม่มีตารางกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน ขาดกฎกติกาภายในบ้าน มีการใช้จอ

ปัจจัยที่กล่าวมานี้เป็นมีส่วนทำให้การแสดงอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กรุนแรงขึ้นได้ แม้ว่า วัยทอง 2 ขวบ ไม่ได้เป็นโรคทางพัฒนาการแต่หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยไว้นาน ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมของลูกได้ อาจนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาทักษะสมองEFได้ในอนาคต หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจในพัฒนาการเด็ก ปรับในปัจจัยที่แก้ไขได้ รู้และนำวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการพฤติกรรมได้จะทำให้เด็กๆ ผ่านพ้นช่วงวัยทอง 2 ขวบไปได้อย่างดีโดยมีความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีที่เชื่อมโยงระหว่างเด็กๆ กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

คำถามสุดฮิต พิชิตวัยทอง 2 ขวบ

Q: ลูกชอบพูด ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ทำ ไม่เอา ปวดหัววันละร้อยรอบทำอย่างไรดีคะ

A: เด็กๆ วัยนี้จะชอบพูดปฏิเสธไว้ก่อน ส่วนหนึ่งมาจากยังใช้ภาษาแสดงความต้องการได้ไม่ทั้งหมด สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้คือให้เด็กรู้ว่าการตัดสินใจนี้เป็นอย่างไร หากสิ่งนั้นไม่อันตรายเช่น หนูไม่อยากฟังนิทานเล่มนี้ ได้ค่ะหนูไม่อยากฟังงั้นคุณแม่เก็บก่อนนะคะ เด็กอาจจะเรียกร้องอยากเล่มนั้นอีกครั้งให้ผู้ปกครองสะท้อนบอกว่า หนูบอกว่าไม่อ่านแล้ว แม่เลยเก็บ ถ้าหนูอยากอ่านเดี๋ยวเรามาอ่านกันครั้งหน้านะคะ หรือหากเราอนุญาตให้อ่านได้และเด็กปฏิเสธอีกครั้ง ครั้งนี้จะต้องเก็บจริงแบบไม่มีข้อแม้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าการบอกปฏิเสธมีผลอย่างไร เขาจะค่อยๆ สื่อสารบอกความต้องการที่ตรงกับใจได้มากขึ้น

Q: ลูกปฏิเสธทุกครั้งที่จะต้องลุกมาอาบน้ำ กินข้าว แปรงฟัน รบกันทุกเช้าเย็นคุณครูช่วยที

A: กิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นตารางอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กต่อต้านในสิ่งที่เป็นกิจวัตรประจำวันเน้นเป็นจับมือพาทำและย้ำว่าเวลาตอนนี้คือเวลาทำสิ่งไหนเนื่องจากเด็ก 2 ขวบยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจว่าหากไม่ทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมา เมื่อเด็กปฏิเสธไม่กินข้าว งดขนมและนม รอกินในมื้อถัดไปเท่านั้น เด็กอาจจะร้องหิวขอให้ผู้ปกครองใจแข็งและยืนยันว่าเราจะกินข้าวมื้อถัดไปในเวลานี้

Q: ลูกเดินเข้าร้านสะดวกซื้อทีไร ต้องงอแงจะเอาของให้ได้เลยค่ะ บอกแล้วก็ไม่ยอมลงไปดิ้นที่พื้นจนแม่ใจอ่อน

A: หากเด็กเกิดพฤติกรรมงอแง โวยวายเกิดขึ้นแล้วไม่สงบ ให้คุณแม่พาน้องออกมาจากร้าน หาที่สงบ พาขึ้นรถหรือพากลับบ้านทันที สะท้อนอารมณ์และคุยกันเมื่อเด็กสงบ และในครั้งหน้าก่อนเข้าร้านสะดวกซื้อให้คุณพ่อคุณแม่ตกลงกติกากันว่าวันนี้เราจะซื้ออะไรบ้าง หากงอแงจะพากลับทันที เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดจริงทำจริงเด็กจะเริ่มเข้าใจกติกาแล้วรับรู้ว่าการโวยวายจะไม่ได้ซื้อขนมและได้กลับบ้านทันที

การรับมือกับวัยทอง 2 ขวบไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่แน่นอนค่ะ หากลองรับมือแล้วรู้สึกต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคำแนะนำหรือวิธีการแก้ไขแบบรายบุคคล สามารถติดต่อสอบถามทางเซ้นเซคลินิกได้เลยนะคะ เพราะคุณพ่อคุณแม่คือกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในทุกวันนะคะ

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123