เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์แตกต่างกัน
เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมเด็กที่อายุเท่ากัน เป็นพี่น้องกัน หรือแม้กระทั่งเป็นฝาแฝดกัน เวลาเจอสถานการณ์เดียวกัน แต่การตอบสนองต่อสถานการณ์นั่น ๆ จะแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะว่าเขามี
“พื้นฐานอารมณ์” ที่แตกต่างกันค่ะ
“พื้นฐานอารมณ์” หรือ Temperament คือ
ลักษณะการตอบสนองของเด็กแต่ละรูปแบบต่อสถานการณ์นั้น ๆ เมื่อประมาณปี ค.ศ.1960 นักจิตวิทยาที่อเมริกาได้ทำการศึกษาเรื่องพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก จำนวน 131 คน พบว่าเด็กมีพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกัน 9 แบบ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ เด็กเลี้ยงง่าย (East child) เด็กเลี้ยงยาก (Difficult child) และเด็กปรับตัวช้า (Slow to warm up)
พื้นฐานอารมณ์มี 3 แบบ
เด็กเลี้ยงง่าย (Easy child)
เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เลี้ยงง่าย มีเวลากิน นอน ขับถ่ายที่แน่นอน มีพื้นฐานอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส
และสามารถปรับตัวเขากับคนใหม่ ๆ สถานการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เด็กกลุ่มนี้มีประมาณ 40%
การเข้าหาด็กกลุ่มนี้ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงง่ายแต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ง่ายแบบนั้นค่ะ
เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ปรับตัวง่าย และเชื่อฟัง ทำให้บางครั้งผู้ปกครองอาจเผลอตามใจเขามากเกินไป และชี้นำให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ เพราะฉะนั้นควรเปิดโอกาสให้เขาได้คิดเอง ได้เรียนรู้สิ่งที่ท้าทายมากขึ้น
เด็กเลี้ยงยาก (Difficult child)
เด็กกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 10% เป็นเด็กที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ยากและใช้เวลา การกิน อยู่ไม่เป็นเวลาที่แน่นอน พื้นฐานอารมณ์จะหงุดหงิดและร้องไห้บ่อย
การเข้าหาเด็กกลุ่มนี้ ผู้ปกครองต้องระมัดระวังอารมณ์ของตนเองเพราะอาจเผลอหงุดหงิดกับเขาได้ เราควรเข้าหาเขาด้วยเหตุผล และความอดทนค่ะ เมื่อไรก็ตามที่เขายอมรับและเข้าใจเหตุผล การดูแลเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ
เด็กปรับตัวช้า (Slow to warm up)
เด็กกลุ่มสุดท้ายพบได้ประมาณ 15% เป็นกลุ่มที่ใช้เวลานานในการปรับตัว ค่อนข้างขี้อาย แต่ถ้าหากให้เวลามากพอก็สามารถปรับตัวได้
การเข้าหาเด็กกลุ่มนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการให้เวลาค่ะ อย่าเร่งเร้าให้เขาทำโดยที่ยังไม่พร้อม ให้เวลาเขาได้ค่อย ๆ ปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้เขาทำหรือเจอประสบการณ์ใหม่โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูห่าง ๆ และให้กำลังใจ เมื่อถึงเวลาที่เขาพร้อมเขาจะสามารถทำได้เองค่ะ
เด็กแต่ละคน มีพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมเขาได้อย่างเหมาะสม เพราะอย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบทั้งกายใจ
เอกสารอ้างอิง
- Behavioral individuality in early childhood. Thomas, A., Chess, S., Birch, H. G., Hertzig, M. E., & Korn, S. (1963).
- Temperament and your baby. New York, NY: New York University PressSickKids.,(2009).