เพราะแบบนี้ลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียน

August 29, 2024

กบ. ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์

เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาคุณครูไอซ์ นักกิจกรรมบำบัด รับเคสคอนเซ้ามาจากคุณหมอกุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เคสเด็กชายเอ (นามสมมติ) อายุประมาณ 6 ขวบ เพิ่งขึ้นป.1 คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าตอนเด็ก ๆ สมัยที่อยู่อนุบาล ลูกไม่มีปัญหาเรื่องการไปโรงเรียนเลย สามารถไปได้สบายมาก แต่พอเริ่มขึ้นป.1 งอแงมาก ไม่อยากไปโรงเรียน บางทีแกล้งป่วย บางทีไม่ยอมตื่นไปอาบน้ำ ไปโรงเรียนแต่ละวันต้องสู้รบกันอย่างหนัก บ้านแทบพังกว่าจะพากันไปได้ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่มีปัญหาเลย หลัง ๆ การบ้านลูกก็ไม่ค่อยทำ ทำไม่ได้ ที่โรงเรียนก็เริ่มมีก่อกวนห้องเรียนบ้าง คุณพ่อคุณแม่จึงพามาพบแพทย์ตามคำแนะนำของคุณครู เพราะรู้สึกว่าลูกดื้อมากจนควบคุมไม่ได้ และอยากให้ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเรียนโดยเฉพาะเรื่องการเขียนหนังสือ 

ก่อนที่น้องจะเข้าห้องมาประเมินกับคุณครูไอซ์ คุณหมอแจ้งว่า น้องสามารถทำตามคำสั่งได้หมดเลย ไม่ว่าเราจะสั่งเป็นภาษาไทยหรือว่าภาษาอังกฤษ แต่น้องไม่ยอมพูดสื่อสาร พูดน้อยมาก น้องจะพูดภาษาอังกฤษโต้ตอบเป็นวลีหรือคำสั้น ๆ ไม่พูดภาษาไทย (ต้องบอกก่อนว่าครอบครัวของน้องเป็นคนจีน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อสารไทยได้คล่องมากแบบมาก ๆ และภาษาไทยก็เป็นภาษาหลักในการสื่อสารในบ้าน) แต่น้องกลับไม่สื่อสารภาษาไทยเลยจึงทำให้ครูไอซ์รู้สึกแปลกใจมาก

เมื่อน้องเข้ามาในห้อง ก็เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ตื่นตาตื่นใจกับของเล่นมากมาย พุงไปหาชิงช้าที่อยู่กลางห้อง เล่นอย่างสนุก แต่ไม่พูดกับครูเลย เมื่อครูถามเป็นภาษาอังกฤษน้องก็ตอบกลับมาอย่างเร็ว แต่พอเป็นภาษาไทยก็จะแค่ พยักหน้า ส่ายหน้า พฤติกรรมน้องในห้องเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ได้ดูเป็นเด็กดื้ออย่างที่คุณพ่อคุณแม่ให้ข้อมูล แล้วทำไมกันนะน้องเอถึงไม่อยากไปโรงเรียน

ครูไอซ์ “น้องเอ ไม่ชอบไปโรงเรียนหรอคะ”

น้องเอ “…” คิดเล็กน้อยแล้วพยักหน้า

ครูไอซ์ “ทำไมละ”

น้องเอ “…”มองหน้าสบตาแต่ไม่ตอบ

ครูไอซ์ “น้องเอ ชอบวิชาอะไร”

น้องเอ “English”

ครูไอซ์ “ทำไมละ”

น้องเอ “…”มองหน้าสบตาแต่ไม่ตอบ

ประเมินแรกรับ

ในการเจอกันครั้งแรกครูยังไม่ได้ประเมินอะไรมาก เนื่องจากน้องค่อนข้างโตจึงเน้นสร้างสัมพันธภาพก่อน เพื่อให้น้องสนิทสนมและเปิดใจคุยกับครูไอซ์ ในการเจอกันครั้งแรกพบปัญหาว่า น้องมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า (คุณแม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น้องมีพัฒนาการภาษาล่าช้าตั้งแต่ประมาณ 3 ปีที่แล้ว ได้กระตุ้นการพูดกับนักแก้ไขการพูดเพียง 3 ครั้ง แต่เจอสถานการณ์โควิดจึงหยุดไป) น้องมีปัญหาด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก สมาธิและสหสัมพันธ์ที่ไม่สมวัยร่วมด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมจาดผู้ปกครองคือน้องดู Smart TV เป็นหลัก และติดมือถือ ไอแพดเป็นอย่างมาก ครูไอซ์จึงได้ขอให้ที่บ้านงดการดูจอทุกชนิดก่อน เพื่อให้เด็กเกิดการสื่อสาร 2 ทางมากขึ้น (Two ways communication) และได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการดูจอมาก ๆ ในเด็ก ไม่ส่งผลดีเลย ถึงแม้บางครั้งเราจะเห็นว่าบุตรหลานของเราสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เหมือนกับที่เขาดู แต่นั่นไม่ใช่การสื่อสารแท้จริง เป็นพียงการสื่อสารทางเดียว (one way communication) และจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาอีกด้วย

ปัญหาที่แท้จริงคือ

อาทิตย์ต่อมา น้องมาฝึกกิจกรรมบำบัดตามนัด ครั้งนี้ครูพาทำกิจกรรมสนุก ๆ เกี่ยวกับการ์ดคำศัพท์รูปสัตว์ต่าง ๆ น้องเอ สนุกมากหลังจบกิจกรรมน้องเอพูด พร้อมทำท่าทางประกอบ ครูไอซ์จับใจความได้ว่า น้องขอวาดรูประบายสี สัตว์ ครูไอซ์จึงให้เลือกสัตว์มา 3 ตัวเพื่อวาดรูประบายสี เมื่อเริ่มทำกิจกรรมครูไอซ์จึงได้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของการไม่อยากไปโรงเรียนของน้องเอว่าคืออะไร

น้องเอ มีกล้ามเนื้อมือ (กล้ามเนื้อมัดเล็ก) และการทรงท่า (กล้ามเนื้อมัดใหญ่) ไม่สมวัย

จากรูปภาพเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า การจับดินสอบของน้องเอ เป็นการจับดินสอที่ไม่สมวัย (พัฒนาการการจับดินสอ) นั่นแสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็ง เพราะปกติวัยนี้ต้องจับดินสอบแบบ tripod pinch ได้แล้ว เพื่อต่อยอดไปสู่การเขียน และหากสังเกตไปนานกว่านั้น เมื่อต้องระบายสีนาน ๆ น้องเอ จะจับดินสอ แบบกำ นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่า ความทนทานในการเขียนค่อนข้างต่ำกว่าวัยอย่างมาก เพราะไม่มีแรง ไม่สามารถสะบัดข้อมือไปมา (Stroke) ใช้วิธีการออกแรงจากแขนทั้งท่อนแทนการสะบัดข้อมือ และหากสังเกตท่านั่งดี ๆ จะพบว่าการทรงท่าของน้องเอ ก็ไม่เหมาะสมกับวัยเช่นกัน

เมื่อกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็งแรง การทรงท่าไม่เหมาะสม จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมน้องเอ ถึงไม่อยากทำการบ้าน และไม่อยากไปโรงเรียน เพราะน้องเอ มีความยากลำบากกมากกว่าเพื่อน ๆ วัยเดียวกันนั่นเอง 

จากเคสนี้ครูไอซ์อยากจะขอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ก่อนว่า น้องเอ ไม่ได้เป็นเด็กดื้อ ไม่ตั้งใจเรียน เกเรอย่างที่พ่อแม่เข้าใจ เขาเพียงแต่เคยเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ามาก่อน หรือทางการแพทย์เรียกว่า Global development delay (GDD) คือเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารอบด้าน แต่ไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตอนอายุน้อยผู้ปกครองอาจมองว่าไม่มีปัญหาอะไร สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ เล่นกับเพื่อน ๆ ได้ แต่เมื่อโตขึ้น จะเริ่มมีปัญหาพัฒนาการต่าง ๆ ตามมา เพราะรากฐานของพัฒนาการเริ่มแรกไม่แข็งแรงนั่นเอง ทำให้การต่อยอดพัฒนาการขั้นต่อไปทำได้ลำบากกว่าเด็กช่วงวัยเดียวกันที่มีพัฒนาการปกติ ดังนั้นการตรวจประเมินพัฒนาการในเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ครูไอซ์จึงอยากให้ผู้ปกครองมองว่าการประเมินพัฒนาการในเด็กก็เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพของผู้ใหญ่ หากเราพบปัญหาได้เร็ว ได้รับการกระตุ้นเร็ว ก็จะเป็นผลดีกับเด็ก ๆ นั้นเองค่ะ

พัฒนาการล่าช้ารอบด้าน Global development delay (GDD) 

เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารอบด้าน Global development delay (GDD) ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบเรื่องการเรียน แต่ยังส่งผลถึงการเข้าสังคมอีกด้วย หากคนใกล้ชิด เช่น ผู้ปกครอง คุณครู ไม่เข้าใจจะมองว่าเด็กเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ลายมือไม่สวย อาจใช้การลงโทษในการจัดการเด็ก ๆ กลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ ในห้อง เนื่องจากควาสามารถไม่เท่าเพื่อน ไม่สามารถเล่นหรือสื่อสารกับเพื่อนได้ น้องเอเองก็พบปัญหานี้ คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า เมื่อขึ้นประถมศึกษา ลูกเริ่มไม่มีเพื่อน และมีพฤติกรรมแปลก ๆ ที่โรงเรียน คือ น้องเอเคยโชว์อวัยวะเพศให้เพื่อน ๆ ดู เพราะเมื่อโชว์แล้ว เพื่อน ๆ สนใจและขำ น้องเอ จึงทำพฤติกรรมนี้ เพื่อเป็นการเข้าสังคม พฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำอย่างยิ่งในที่สาธารณะ แต่หากเราวิเคราะห์ให้ลึกเราจะพบว่าน้องเอทำพฤติกรรมนี้เนื่องจาก ทำแล้วเขาได้รับความสนใจจากเพื่อน ๆ คุณครู ถึงแม้จะไม่เหมาะสมก็ตาม เพราะน้องเอ ไม่สามารถเล่นกับเพื่อนได้ เนื่องจากขาดทักษะทางภาษา (มีชุดคำศัพท์ในการสื่อสารน้อย และพูดไม่ชัด เพื่อนสื่อสารภาษาไทยเป็นหลัก) เมื่อพัฒนาการทางภาษาไม่สมวัยจึงส่งผลต่อทักษะการเข้าสัมคม และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง 

เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารอบด้าน Global development delay (GDD) สามารถกระตุ้นให้พัฒนาการกลับมาใกล้เคียงสมวัยได้ หากเราตรวจพบได้เร็วเท่าไร ยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก ๆ มากเท่านั้น อย่ามองว่าการมีพัฒนาการล่าช้าเป็นเรื่องที่รอได้ เพราะเวลาที่เสียไปคือโอกาสในการพัฒนาของเด็ก พัฒนาการที่ดีสมวัยจะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างแข็งแรง สมวัยทั้งกายใจ

หากผู้ปกครองท่านใดมีข้อสงสัย หรือต้องการประเมินพัฒนาการสามารถสอบถามข้อมูลที่ เซ้น เซ 
สหคลินิก คลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้เลยค่ะ เพราะพัฒนาการเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ อย่างปล่อยเวลาให้เสียไปแม้แต่นาทีเดียว

ด้วยรัก 
ครูไอซ์ นักกิจกรรมบำบัด

กบ. ณัฐพัชร์ สรรพธนาพงศ์
กบ.1115