อารมณ์เป็นเรื่องสำคัญและมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังใช้สมองส่วนอารมณ์เยอะและสมองส่วนเหตุผลยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องยากของเด็กที่จะจัดการได้ถูกวิธี เรามักพบเห็นเด็กที่มาด้วยปัญหาโกรธง่าย โมโหง่าย ก้าวร้าวรุนแรงหรือใช้ความรุนแรงในการจัดการอารมณ์
การช่วยลูก สอนลูกในเรื่องจัดการอารมณ์เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งเด็กไม่สามารถทำตามได้ทันที อาจจะต้องใช้เวลาสอนและพูดซ้ำๆ หลายครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาลูกในการฝึกฝน
วันนี้ทาง “SenseSay Clinic” มีแนวทางในการจัดการอารมณ์เพื่อให้ลูกเข้าใจ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสมมาให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันค่ะ ยิ่งลูกเห็นเป็นรูปภาพตัวอย่าง มีกติกาที่ชัดเจน ลูกจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้นค่ะ
กติกา 3 ข้อสำคัญที่ต้องปฏิบัติตาม
ควรบอกลูกให้ชัดเจนและทำรูปภาพเพื่อเป็นแนวทางให้จดจำได้และเข้าใจได้ง่ายค่ะ
- ไม่ทำร้ายตนเอง
- ไม่ทำร้ายคนอื่น
- ไม่ทำร้ายสิ่งของ
เมื่ออธิบายถึงกฎกติกาแล้ว ควรบอกถึงผลเสียที่จะตามมาหากละเมิดกฎ 3 ข้อนี้ด้วย เช่น งดเล่านิทาน 1 คืน, งดไอศกรีม 1 วัน เป็นต้น แต่หากเด็กปฏิบัติตามได้ดีในกติกา 3 ข้อนี้ อย่าลืมให้คำชื่นชมเชิงบวกเพื่อให้พฤติกรรมที่ดีนี้คงอยู่ไปตลอด
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโกรธ โมโห เศร้า เสียใจ ให้คุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกให้สงบก่อน อย่าพึ่งสอนหรือดุด่าว่ากล่าวเพราะหากยังมีอารมณ์อยู่มาก การจะใช้เหตุผลหรือรับฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนนั้นเป็นเรื่องยากและอาจจะนำพามาซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกว่าเดิม
เมื่อปลอบใจลูกจนสงบ ลูกกลับมาอารมณ์ดีแล้วเราค่อยสอนถึงวิธีจัดการกับอารมณ์ค่ะ หรือไม่จำเป็นต้องสอนภายในวันนั้นนะคะ สามารถหาเวลาที่ลูกอารมณ์ดี พร้อมต่อการเรียนรู้แล้วจึงสอน แนะนำแนวทางการจัดการอารมณ์ได้ค่ะ อาจจะทำสื่อรูปภาพเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจร่วมด้วย
วิธีรับมืออารมณ์ต่างๆเมื่อลูก …
… เมื่อลูกโกรธ ลูกสามารถ
- ไปที่มุมสงบของตัวเอง นั่ง อยู่กับตัวเอง ยังไม่พูดคุยหรือทำกิจกรรมอะไรเพื่อให้ตนเองหายโกรธก่อน จึงออกมาจากมุมสงบ
- ออกกำลังกายปล่อยพลัง ปลดปล่อยความโกรธผ่านการกระโดดแทรมโพลีน วิ่ง เล่นกีฬา
- นับ 1-10 ในใจ เพื่อให้สงบและมีการรับรู้ตนเอง ก่อนจะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
… เมื่อลูกเศร้า ลูกสามารถ
- ร้องไห้เสียใจได้ เพราะการร้องไห้เป็นการแสดงความรู้สึกรูปแบบหนึ่ง เราสามารถร้องไห้ได้เมื่อเศร้าเสียใจ
- กอดพ่อแม่ได้ เพื่อให้พ่อแม่ปลอบใจให้คลายความเศร้า
- มีน้องตุ๊กตารับฟังความเศร้า เมื่อลูกเศร้าสามารถเล่าเรื่องราวให้น้องตุ๊กตาฟังได้ เหมือนเป็นเพื่อนคู่ใจ
… เมื่อลูกกังวล ลูกสามารถ
- พูดคุยกับพ่อแม่ได้ เล่าเรื่องราวที่กังวลและขอคำแนะนำจากพ่อแม่ เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่กังวล เมื่อวางแผนไว้ล่วงหน้า ความกังวลจะลดลงได้
- หายใจเข้าออกลึกๆ จะช่วยให้สงบและลดความกังวลได้
- ฟังเพลงที่ชอบ การฟังเพลงที่ชอบจะช่วยให้ผ่อนคลายและคลายกังวล กลับมามีความสุขและสดใสมากขึ้น
… เมื่อลูกมีความสุข ลูกสามารถ
- เล่นกับเพื่อน การเข้าหาเพื่อนด้วยอารมณ์ที่ดี จะทำให้การเล่นนั้นมีความสุข แบ่งปันและรอคอยกันได้ตลอดการเล่น
- ทำการบ้าน เมื่ออารมณ์ดีและมีความสุข จะช่วยให้สมองดึงข้อมูลความจำมาใช้ได้ดี จดจ่อและทำการบ้ายได้จนเสร็จ
- อ่านหนังสือ เมื่อมีความสุข อารมณ์ดี จะทำให้มีสมาธิจดจ่อ รับข้อมูลได้ดี จดจำข้อมูลได้ดี อ่านได้นานมากขึ้น