ขวดสงบใจ Calm Down Bottles: ฝึกสมาธิให้เด็กในโลกที่วุ่นวาย

August 30, 2024

กบ. กอข้าว เพิ่มตระกูล


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และ 3 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ครูปูน นักกิจกรรมบำบัด จากเซ้นเซสหคลินิก (SenseSay Clinic) คลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ได้รับเชิญเข้าร่วมบรรยายและจัดกิจกรรม Workshop ขวดสงบใจ Calm Down Bottles ที่โรงเรียน SoiSchool สอนคุณพ่อคุณแม่ประดิษฐ์ของเล่นฝึกสมาธิให้เด็กๆ และบรรยายให้ความรู้เรื่องการเสริมสร้างสมาธิเพื่อช่วยให้เด็กๆสามารถรับมือกับสิ่งเร้าที่รบกวนในชีวิตประจำวันได้


การช่วยให้เด็กมีสมาธิในโลกอันวุ่นวาย


สิ่งรบกวนและดึงดูดความสนใจต่อเด็กๆมีอยู่มากมาย เช่น โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ของเล่น เกมออนไลน์ การจัดกิจกรรมฝึกสมาธิให้กับเด็กๆ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ปกครอง ครูปูนจึงมาชวนผู้ปกครองสร้างสมาธิอย่างถูกวิธีอันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตให้ลูกตั้งแต่ก่อน 6 ปี  ภายใต้แนวคิด “Helping Kids Focus in a Busy World” การมีสมาธิจะทำให้เด็กๆมีสติ ควบคุมตนเองได้และจัดการอารมณ์ได้ดีโดยเฉพาะอารมณ์ทางลบ เช่น ความเครียดหรือความโกรธ เพราะหากเด็กๆไม่สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องไห้ โวยวาย กรี๊ด ทิ้งตัว เอาแต่ใจ รอคอยไม่ได้ จนอาจไปถึงการทำร้ายตนเองและผู้อื่น


ในเด็กอายุ 1 ปี สมาธิเริ่มจากความสามารถในการจดจ่อร่วมกัน (Joint Attention) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเรียนรู้ การใช้ภาษาและการสื่อสาร รวมไปถึงทักษะสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น เมื่อพ่อแม่ชี้ให้มองนกที่บินอยู่บนท้องฟ้า ลูกควรจะต้องหันมองตามจุดที่พ่อแม่ชี้หรือเรียกชื่อสิ่งนั้นตามพ่อแม่ทันที หากในเด็กอายุ 1 ปี ยังทำทักษะนี้ไม่ได้ เช่น ไม่มองตาม ไม่พูดตาม ไม่ชี้นิ้ว เรียกไม่หัน จำเป็นต้องฝึกกระตุ้นพัฒนาการอย่างเร่งด่วน เพราะนั่นแสดงว่าเด็กขาดทักษะการจดจ่อร่วมกันกับผู้อื่น เมื่อโตไปย่อมขาดสมาธิอย่างแน่นอนเพราะไม่สามารถทำตามคำสั่งของผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ทำทักษะนี้ไม่ได้มักเกิดจากผู้ปกครองให้ดูหน้าจอ หรือมีความผิดปกติทางโรคพัฒนาการ เช่น ออทิสติก พัฒนาการช้า

เข้าใจสมาธิ: สมาธิในเด็กคืออะไร?


สมาธิในเด็กคือความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น โดยไม่ถูกสิ่งรบกวนภายนอกหรือความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาแทรก การมีสมาธิไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กๆ สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้สำเร็จ แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการเรียนรู้และทักษะการแก้ไขปัญหา เด็กในวัยต่างๆจะมีความสามารถในการคงไว้ซึ่งสมาธิหรือเรียกว่า “ช่วงความสนใจ” แตกต่างกันไปตามอายุ สำหรับเด็กเล็ก เริ่มจากการมีสมาธิจดจ่อในระยะสั้นๆ แต่เมื่อโตขึ้น ความสามารถในการรักษาสมาธิจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยทั่วไปแล้ว เด็กๆควรมีสมาธิที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 นาทีในทุกๆ ปี เช่น

  • เด็กวัย 1 ปี ควรมีสมาธิจดจ่อได้ 2-3 นาทีต่อการทำหนึ่งกิจกรรม
  • เด็กวัย 4 ปี อาจมีสมาธิได้ 8-12 นาทีต่อการทำหนึ่งกิจกรรม
  • เด็ก 6 ปี ความสามารถนี้อาจเพิ่มเป็น 12-18 นาที หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ทำกิจกรรมตามวัยได้สำเร็จ เช่น อาบน้ำแต่งตัวด้วยตัวเอง ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เล่นเกมเศรษฐีกับเพื่อนๆได้จบหนึ่งรอบ

อาการขาดสมาธิคืออะไร?


อาการขาดสมาธิ หมายถึงความสามารถในการจดจ่อที่สั้นเกินกว่าปกติ ซึ่งมักเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมให้สำเร็จ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องอาศัยการจดจ่อและใช้สมาธิเป็นอย่างมาก เช่น การเขียนหนังสือ การเรียนรู้ในห้องเรียน หรือแม้กระทั่งการทำกิจวัตรประจำวัน อาการขาดสมาธินี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่สมดุลของระบบประสาทรับความรู้สึก การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ขาดวินัย ขาดการกระตุ้นเสริมสมาธิ หรือการที่เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งรบกวนมากเกินไปจนจดจ่อไม่ได้


เด็กที่มีอาการขาดสมาธิอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปแต่มักพบอาการเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งหมดโดยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น เหม่อลอย พูดนอกเรื่อง อยู่ไม่นิ่ง สนใจทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ควรจะจดจ่อในขณะนั้น ชอบตะโกนเสียงดังหรือเล่นแรงๆ อาการขาดสมาธิทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการระบบการเรียนรู้และทักษะการเข้าสังคมในระยะยาว


See Motor, Think Sensory และ See Behavior, Think Sensor
y


เมื่อพูดถึงการฝึกสมาธิในเด็ก สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกคือระบบประสาทสัมผัส (Sensory System) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้และการตอบสนองของร่างกาย เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวใดๆ เราควรจะพิจารณาว่า พฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวเหล่านั้นอาจเป็นผลมาจากการตอบสนองของระบบประสาทสัมผัส


See Motor, Think Sensory หมายถึง เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวของเด็ก เช่น การเคาะเท้า การชอบสัมผัสสิ่งต่างๆ การขยับมือ หรือการโยกตัว เป็นการเคลื่อนไหวที่เด็กทำเพื่อต้องการกระตุ้นประสาทสัมผัสผ่านทางกล้ามเนื้อ การเหวี่ยงหมุน การสัมผัส เพื่อช่วยให้ตัวเองมีสมาธิมากขึ้น การเคลื่อนไหวเหล่านี้เด็กๆไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อรบกวนผู้อื่น แต่เป็นวิธีการที่เด็กๆ ใช้ในการปรับสมดุลและรักษาสมาธิของตนเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้มักรบกวนการเรียนรู้ในห้องเรียนของเด็กๆ

See Behavior, Think Sensory หมายถึง การที่เด็กแสดงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การหันเหความสนใจไปยังสิ่งอื่น การต่อรองไม่ทำกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า ร้องไห้ หรือแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ การที่ไม่สามารถจดจ่อได้ อาจเป็นสัญญาณว่าการบูรณาการระบบประสาทสัมผัสของเด็กกำลังประสบปัญหาในการประมวลผลข้อมูล ดังนั้นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กควรคำนึงถึงปัญหาระบบประสาทสัมผัสเป็นอย่างแรกในการกระตุ้นสมาธิของเด็กๆ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสอนหรือการดูแลให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก

กิจกรรมฝึกสมาธิที่เหมาะสม: ฝึกผ่านระบบประสาทสัมผัส สนุกและเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ


การฝึกสมาธิในเด็กควรเป็นเรื่องที่สนุกและมีความหมายสำหรับพวกเขา (Meaningful Activity) กิจกรรมที่เลือกใช้ควรสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็ก เพื่อกระตุ้นให้พวกเขามีแรงจูงใจภายใน (Inner Drive) ที่จะจดจ่อและทำกิจกรรมนั้นๆ อย่างเต็มที่

กิจกรรมที่มีการกระตุ้นทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การเล่นเกมที่ต้องใช้ความคิด การทำงานศิลปะ การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มักจะมีประสิทธิภาพในการฝึกสมาธิได้ดี

การที่เด็กสามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่พวกเขาชอบและรู้สึกสนุก จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความรู้สึกพึงพอใจ เมื่อเด็กๆทำกิจกรรมที่ชอบได้สำเร็จ เด็กๆจะพยายามทำกิจกรรมอื่นๆที่ยากขึ้น อยากที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จเพราะเด็กๆมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแล้วนั่นเอง

ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิ

กิจกรรมฝึกสมาธิผ่านการสัมผัส (Tactile Activities)


เช่น การเล่นปั้นดิน ระบายสีน้ำ ปั้มลายนิ้วมือ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กๆ ได้สัมผัสและรู้สึกถึงวัตถุโดยตรง ทำให้พวกเขาได้ฝึกสมาธิผ่านการใช้มือและสายตา


Tactile ระบบประสาทการรับความรู้สึกที่ซ่อนในกิจกรรมของลูกน้อย

อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่นี่

กิจกรรมฝึกสมาธิผ่านการทรงตัว (Vestibular Activities)


เช่น การนั่งชิงช้า การเดินสะพานทางแคบ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกสมาธิผ่านการควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนไหว


Vestibular ระบบที่ช่วยรักษาสมดุลร่างกาย

อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่นี่

กิจกรรมฝึกสมาธิผ่านกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อ (Proprioceptive Activities)


เช่น การปีนป่าย กระโดดTrampoline ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิผ่านการใช้กล้ามเนื้อและการควบคุมข้อต่อ


Proprioceptive ระบบที่ช่วยให้ออกแรงอย่างเหมาะสม

อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่นี่

กิจกรรมฝึกสมาธิผ่านการวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor Planning Activities)


เช่น การผูกเชือกรองเท้า เด็กๆ จะต้องคิดวางแผนลำดับการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิผ่านการวางแผนและการดำเนินการตามแผน

การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมสมาธิ


การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการฝึกสมาธิให้กับเด็กๆ ผู้ปกครองสามารถทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. ตั้งเป้าหมายให้กิจกรรมที่เด็กทำ เพื่อให้พวกเขามีทิศทางและแรงจูงใจในการทำ เช่น ปาบอลให้ลงตะกร้าจำนวน 10 ลูก โดยให้หยิบสีตามคำสั่งของผู้ปกครอง
  2. เล่นกับเด็กโดยนั่งตรงข้ามกันเพื่อให้เด็กสามารถโฟกัสได้ง่ายขึ้น
  3. มองหน้าสบตาเด็กเพื่อสร้างความสัมพันธ์และการจดจ่อร่วมกัน
  4. เล่นแบบผลัดกันเล่น เพื่อฝึกการรอคอยและการจดจ่อในขณะที่รอ เช่น เกมบันไดงู เกมตึกถล่ม เกมเล่นขายของ เป็นต้น
  5. ลดสิ่งเร้าด้วยการหยิบของเล่นทีละชิ้น เพื่อไม่ให้เด็กๆ วอกแวก รวมไปถึงจัดห้องให้สะอาดไม่มีสิ่งรบกวน เช่น ไม่ควรมีทีวีและพ่อแม่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ขณะที่เล่นร่วมกับลูก
  6. ชื่นชมเด็กเมื่อพวกเขาตั้งใจทำกิจกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจและแรงจูงใจในการมีสมาธิ เช่น ลูกเป็นเด็กตั้งใจดีมากที่แต่งตัวเองจนสำเร็จ แม่ภูมิใจในตัวลูกมากค่ะ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการฝึกสมาธิ

  • การให้เด็กดูหน้าจอนานเกินไป ทำให้เด็กไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งอื่นๆรอบตัว
  • การไม่เล่นกับลูก ซึ่งจะทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกสมาธิและทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆช้าตามไปด้วย
  • กิจกรรมที่ยากเกินไป จะทำให้เด็กท้อแท้และหมดความมั่นใจ (Lack of Self-Esteem)
  • การตามใจลูกมากเกินไป จะทำให้เด็กไม่มีความอดทน ขาดวินัยไม่สามารถทำตามคำสั่งได้

กิจกรรม Workshop : “ขวดสงบใจ” (Calm Down Bottles)


ทางSoiSchool ได้จัดเตรียมกิจกรรมขวดสงบใจ (Calm Down Bottles) เพื่อใช้ในการฝึกสมาธิให้เด็กๆ โดยครูปูนได้มีโอกาสร่วมเป็นผู้นำกิจกรรมกับทีมงานคุณครูจากโรงเรียน SoiSchool ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเพื่อที่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้และเล่นกับลูกๆในการเสริมสร้างสมาธิ

อุปกรณ์ที่ใช้

  • เม็ดบีดส์หลากสีหรือของตกแต่งชิ้นเล็ก เช่นลูกปัด
  • น้ำเปล่า
  • น้ำยาล้างจาน
  • ขวดพลาสติกปิดฝา

วิธีการทำขวดสงบใจแค่ใส่เม็ดบีดส์หรือลูกปัด ลงไปในขวด จากนั้นเทน้ำยาล้างจานประมาณ1ใน3ของขวดและตามด้วยน้ำเปล่าจนเต็มขวด ผสมทุกอย่างให้เข้ากันและเขย่าขวด เด็กๆจะสังเกตเห็นสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ภายในขวดเคลื่อนไหวและค่อยๆ จมลงไปที่ก้นขวด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยกระตุ้นสายตา ช่วยคลายความเครียด และฝึกความอดทนรอคอย

ผู้ปกครองรอคอยด้วยการกลั้นหายใจจนกว่าสิ่งต่างๆในขวดจะหยุดนิ่ง

ตัวอย่างวิธีการเล่นจากครูปูนนักกิจกรรมบำบัด

  1. ให้เด็กๆเขย่าขวดจนพอใจ เมื่อพร้อมให้วางขวดลง ใช้สายตาเฝ้ามอง สิ่งต่างๆในขวดค่อยๆจมลง เพิ่มความสนุกด้วยการแข่งกันว่าสิ่งของในขวดของใครจะจมลงจนหมดก่อนกัน เด็กๆจะได้ฝึกการรอคอยอย่างมีจุดหมาย (Quiet, Calming Activity)
  2. ให้เด็กๆเขย่าขวดจนพอใจ ให้ผู้ปกครองให้คำสั่ง เช่น ให้ลูกรอจนกว่าลูกปัดสีแดงชิ้นสุดท้ายจมลง เสร็จแล้วให้รีบยกมือขึ้น เด็กๆจะได้ฝึกการรอคอยและการใช้สายตาแยกสี ฝึกการโฟกัสไปที่สิ่งเดียว (Visual Attention/Discrimination Activity)
  3. ให้เด็กๆเขย่าขวดจนพอใจ จากนั้นให้คำสั่งว่า “เมื่อวางขวดลงแล้วให้กลั้นหายใจ แล้วรอจนกว่าสิ่งต่างๆในขวดหยุดนิ่ง จากนั้นจึงค่อยๆผ่อนลมหายออก” เด็กๆจะได้ฝึกการควบคุมตนเอง ฝึกการหยุดและยับยั้งตนเอง ผ่านการควบคุมลมหายใจ (Mindfulness Activity)

ครูปูนได้ให้ผู้ปกครองทุกคนฝึกกิจกรรมดังกล่าวแล้วพบว่าทั้งสนุกและได้ฝึกสมาธิไปอย่างไม่รู้ตัว เด็กๆสามารถนำขวดนี้พกติดตัวไปนอกบ้าน เพื่อใช้เล่นยามว่างแทนการเล่นโทรศัพท์และมือถือ แต่สุดท้ายแล้วของเล่นที่ดีที่สุดคือ “พ่อแม่” ของเล่นอะไรก็ได้ที่พ่อแม่เล่นกับเด็กๆ หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ร่วมทำกับพ่อแม่ล้วนเสริมสร้างสมาธิให้กับเด็กๆได้อย่างดี


ครูปูนและคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก เซ้นเซ ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการฝึกสมาธิและพัฒนาการของเด็กๆ ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพและร่าเริงในทุกๆวัน

กบ. กอข้าว เพิ่มตระกูล
กบ.1096