ศิลปะบำบัดเพื่อเข้าใจตนเองและเปิดประตูเพื่อเข้าใจผู้อื่น
Sense Say Clinic เปิดบทสัมภาษณ์ ครูวิว นักศิลปะบำบัดวิชาชีพ IPATT (International of Art Therapy in Thailand) จากสมาคมศิลปะบำบัดประเทศแคนาดา สถาบัน CiiAT
“ศิลปะบำบัดคืออะไร?”
ครูวิว : กระบวนการศิลปะบำบัดจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากเพื่อเข้าใจตนเองแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูเพื่อเข้าใจผู้อื่น การเผชิญหน้ากับปัญหาและความแตกต่าง รวมทั้งเรียนรู้ที่จะจัดการเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้มีความสุขขึ้น
“นักศิลปะบำบัด วิชาชีพที่ต้องได้รับการรับรอง”
ครูวิว : นักศิลปะบำบัดจะต้องผ่านการฝึกอบรมระดับคลินิกและได้รับการรับรองจากสถาบันเฉพาะทาง ปัจจุบันศิลปะบำบัดเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นมีหลักสูตรประกาศนียบัตรนักศิลปะบำบัดวิชาชีพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
“ศิลปะบำบัด คือ ศิลปะที่ทำงานกับใจ”
ครูวิว : หลายคนมักคิดว่า “ศิลปะ” เป็นการสร้างผลงานให้เกิดความสวยงาม หรือเพิ่มพูนจินตนาการและการสร้างสรรค์ หรือเพื่อให้เกิดสมาธิและความผ่อนคลาย บางคนหากได้ยินคำว่าศิลปะจะไม่กล้าทดลองหรือสัมผัส เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ไกลตัว ต้องใช้การฝึกฝนและไม่มีความสามารถมากพอ ที่จริงศิลปะยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญใดๆ ในการลงมือทำ ศิลปะที่ว่านี้ คือ “ศิลปะบำบัด” ซึ่งได้ขยายพื้นที่ให้กลายเป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไป
กระบวนการทำงานของศิลปะบำบัดมีดังนี้
1. ใช้เป็นเครื่องมือในสื่อสารเรื่องราวทั้งในด้านบวกและด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกังวล ความเจ็บปวด หรือความภาคภูมิใจ
2. ช่วยปลดปล่อยความรู้สึก และอารมณ์ที่คั่งค้างยากที่จะเป็นคำพูดออกมาเป็นผลงาน เสมือนประตูเชื่อมจากตัวตนที่อยู่ภายในสู่ผลงานภายนอกที่เป็นรูปธรรม
3. ผลงานที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด งานปั้น บทกวี นิทาน ฯลฯ บางครั้งอาจดูไม่น่ามองและสวยงาม ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจ ณ ขณะนั้น ทำให้สามารถสืบค้นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว อันจะนำไปสู่การเข้าใจตนเองมากขึ้น
4. นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการ (process) ระหว่างทำงานศิลปะ ซึ่งจะช่วยให้เห็นรูปแบบพฤติกรรมซ้ำๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตจริงที่มีพฤติกรรมนี้เช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจตนเอง หรือเห็นถึงความไม่สมดุลภายในใจ ก็จะตัดสินใจเลือกที่จะปรับสมดุล หรือเปลี่ยนแปลงตนเองได้ในอนาคต
5. การทำงานด้วยอุปกรณ์ศิลปะที่หลากหลายและไม่คุ้นเคยจนสำเร็จ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าต่อตนเองมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความรู้สึกว่า “ฉันทำได้”
“ข้อดีของการใช้ศิลปะบำบัด ทางเลือกสำหรับเด็กและวัยรุ่น”
ครูวิว : วัสดุอุปกรณ์ศิลปะเป็นสิ่งที่เด็กๆคุ้นเคย ในแต่ละวัยจะมีการใช้ชุดคำหรือข้อจำกัดในการสื่อสารที่แตกต่างกัน ศิลปะเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ทำให้สื่อสารความรู้สึกออกมาได้ สำหรับวิวรู้สึกว่าศิลปะเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรมากๆกับเด็กในการรับมือกับสิ่งต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกไว้วางใจ เมื่อเกิดความไว้วางใจก็จะกล้าสื่อสารออกมากับนักศิลปะบำบัดมากขึ้น นักศิลปะบำบัดก็คอยเป็นเพื่อนร่วมทาง สนับสนุนเสริมสร้างกำลังใจและศักยภาพเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“เด็กได้เป็นตัวเองผ่านงานศิลปะ รู้เท่าทันตัวเองเพื่อการเติบโต”
ครูวิว : เมื่อเราโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วสิ่งที่ค้นพบปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ที่พบเจอมาแต่ตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นวิวจึงให้ความสำคัญสุขภาพใจเด็กและวัยรุ่น ศิลปะได้ให้พื้นที่และให้โอกาสสำหรับเด็กในการทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เด็กได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองที่จะรู้สึกที่แท้จริง ระบายออกในทุกรูปแบบกิจกรรม คลี่คลายความความรู้สึกลบไปสู่สิ่งสร้างสรรค์ การได้ระบายออกไปบ้างแม้ว่าสิ่งนั้นยังไม่หายไปในรูปธรรม แต่เด็กก็รู้สึกเบาและสบายใจมากขึ้น การให้เด็กได้สื่อสาร พุดคุย ระบายอารมณ์ และมีผู้ใหญ่คอยรับฟังโดยไม่ตัดสิน จะทำให้เด็กได้รู้จักอารมณ์ เท่าทัน เติบโต และมีขอบเขตทางอารมณ์มากขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตใจในอนาคตได้อย่างแน่นอน
บทสัมภาษณ์ ครูวิว นักศิลปะบำบัด นางสาวเพียงขวัญ เมฆาสวัสดิ์
2561 ประกาศนียบัตรศิลปะบำบัดวิชาชีพ IPATT (International of Art Therapy in Thailand) รับรองจากสมาคมศิลปะบำบัด แห่งประเทศแคนาดา สถาบัน CiiAT
2557 มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาประยุกตศิลปศึกษา (เกียรตินิยมอันดับ2)