ก่อนเด็กจะเขียนได้ ต้องมีอะไรดี

June 4, 2024

Sensesay-Editor


การเขียนเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเด็ก ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ก่อนที่เด็กจะสามารถเขียนได้ดี จำเป็นต้องมีพื้นฐานสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องและการบูรณาการประสาทความรู้สึก การเตรียมความพร้อมในด้านเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการเขียนที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรามาดูกันซิว่าก่อนเด็กจะเขียนได้ต้องมีอะไรดี ?

การมองเห็นดี


ทักษะการรับข้อมูลทางตา (Visual Receptive skills) ได้แก่ ความคมชัดในการมองภาพ (Visual acuity) การปรับภาพของการมองให้ชัด (Accommodation) การรวมภาพจากตาทั้งสองข้าง (Binocular fusion) การกรอกตาสองข้างเข้าหากัน (Convergence) การมองเห็นภาพสามมิติ (Stereopsis) และการควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา (Oculomotor control) ซึ่งประกอบด้วย การจ้องวัตถุ การมองตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวและการเคลื่อนไหวตาอย่างเร็วเพื่อจับภาพวัตถุที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว หากเด็ก ๆ มีปัญหาสายตา มองเห็นไม่ชัดเจน หรือภาวะตาขี้เกียจ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม นอกจากทักษะการรับรู้ข้อมูลทางตาแล้ว ยังมีทักษะการรู้คิดทางการมองเห็น (Visual cognitive skills) ที่จะนำข้อมูลที่ได้รับทางการมองเห็นไปคัดเลือกและประมวลผลออกมาแสดงให้เห็นเป็นทักษะการเขียนหรือพฤติกรรมขณะเขียน โดยเริ่มจากความตั้งใจในการมอง (Visual attention) ความจำจากการมองเห็น (Visual memory) แยกแยกสิ่งที่มองเห็น (Visual discrimination) และการสร้างมโนภาพ (Visual imagery/Visualization)


กิจกรรมเล่นเสริมการเขียน:
การเล่นเปิดบัตรภาพให้จำชื่อสิ่งที่มองเห็น เล่นทายภาพ หาของจากกระบะทราย เขียนตัวอักษรบนพื้นผิวหลายสัมผัส


การใช้มือดี


เด็ก ๆ มีพัฒนาการหยิบจับตั้งแต่ 6 เดือน เริ่มที่จะจับคว้าของรูปแบบการจับกำมือ (Mass grasp) จากนั้นจะพัฒนาการหยิบจับที่มีความละเอียดมากขึ้นสามารถหยิบของชิ้นเล็กโดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จีบวัตถุ (Pad pinch) ชิ้นเล็กขึ้นมาได้ หรือการใช้มือผ่านการทำกิจวัตรประจำวันเช่น การรับประทานอาหาร การใส่เสื้อผ้า การติด/ถอดกระดุม เด็กจะเริ่มใช้อุปกรณ์ในการทำกิจกรรมเช่น การใช้ช้อนส้อม การใช้ที่คีบ การใช้สีเทียนสีไม้หรืออุปกรณ์ระบายสีต่าง ๆ การใช้กรรไกร ซึ่งเด็ก ๆ จะได้พัฒนาทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมือ เพิ่มความแข็งแรงของมือ การเคลื่อนไหวแยกนิ้วมือ (Finger isolation) และการพัฒนาให้เด็กมีมือข้างที่ถนัด (Hand dominance) ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ช่วยเหลือตนเองตามวัยและใช้มือทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเขียน หากเด็ก ๆ มีการมองเห็นที่ดีและการใช้มือที่ดีจะนำไปสู่การพัฒนาสหสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ (Eye-hand coordination) การบูรณาการการมองเห็นและการเคลื่อนไหว (Visual motor integration)


กิจกรรมเล่นเสริมการเขียน:
การเล่นลูกบอลผ่านการโยน รับ เตะลูกบอล การใช้มือทำกิจกรรมที่หลากหลาย ตัด/พับกระดาษ เล่นระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง


การบูรณาการประสาทความรู้สึกดี


เด็ก ๆ จะนั่งที่โต๊ะเพื่อเขียนหรือทำกิจกรรมเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากเด็ก ๆ มีความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวน้อย ไม่สามารถที่จะตั้งตรงได้นานทำให้เด็กจะเริ่มฟุบลงไปกับโต๊ะเมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้ขาดสมาธิ เหม่อลอย ไม่สนใจที่จะเขียน เขียนตัวหนังสือโย้ไปมา หากเด็ก ๆ มีความยากลำบากที่จะวางแผนการเคลื่อนไหว การใช้ร่างกายสองซีกให้สัมพันธ์กันอาจกระทบกับการเขียนตัวอักษรที่มีความซับซ้อนหรือคำใหม่ที่ไม่คุ้นเคย


กิจกรรมเล่นเสริมการเขียน:
เดินทรงตัวบนเส้นตรง เล่นกระโดดตบ กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนไหวมา การเคลื่อนไหวออกกำลังกายโดยลอกเลียนแบบท่าทางผู้อื่น


การเล่นให้สนุกเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะเตรียมความพร้อมก่อนการเขียน ซึ่งเริ่มพัฒนาได้ตั้งแต่เด็กเริ่มหยิบจับวัตถุ หากเด็ก ๆ ได้สะสมประสบการณ์เล่นเสริมการเขียนผ่านกิจกรรม ในวันที่เด็ก ๆ จะต้องเขียนหนังสือเด็กจะมีความพร้อมและรู้สึกสนุกได้เรียนรู้ไปกับการขีดเขียน…แล้ววันนี้สิบนิ้วของหนูจะเล่นอะไรดีนะ ?

เอกสารอ้างอิง

  • สรุปเนื้อหาจากการอบรม การพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านกิจกรรมบูรณาการประสาทการรับความรู้สึก ฉบับนักวิชาชีพ (Basic and Advance) วิทยากร อ.ดร.ก.บ. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา และ อ.ดร.ก.บ. พีรเดช ธิจันทร์เปียง
  • Colleen Beck. (2022, April 22). Preschool Pre-Writing Skills.
  • Colleen Beck. (2023, June 21). Visual Motor Skills By Age.
Sensesay-Editor