เด็กซน วิ่งไปทั่ว ชอบเล่นแรง ขาดสมาธิ อาจเป็นปัญหาจากระบบ Proprioceptive ดังนั้นหากได้สิ่งเร้าประสาทรับความรู้สึกของระบบ Proprioceptive อย่างเหมาะสมจะช่วยให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ที่ดี ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมได้
“Proprioceptive system คืออะไร?”
Proprioceptive คือ การที่มนุษย์ได้รับความรู้สึกผ่านกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ ขณะออกแรง ผลัก ดึง ยก ยึด หรือเหยียดกล้ามเนื้อ ระบบ Proprioceptive อาจยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนระบบการรับความรู้สึกอื่น เช่น การได้ยิน การสัมผัส การมองเห็น แต่แท้จริงแล้วระบบ Proprioceptive เป็นระบบที่สำคัญมาก เพราะระบบ Proprioceptive จะช่วยบอกเราได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ เรากำลังเคลื่อนไหวอย่างไร ต้องออกแรงมากน้อยเพียงใด
“Proprioceptive สำคัญอย่างไรกับการเลี้ยงลูก”
เด็กซน วิ่งไปทั่ว ชอบเล่นแรง ขาดสมาธิ อาจเป็นปัญหาจากระบบ Proprioceptive เมื่อตัวรับความรู้สึกของระบบ Proprioceptive ถูกกระตุ้น สมองจะรับรู้และแปลข้อมูลการเคลื่อนไหวของร่างกายผ่านส่วนของสมอง 3 ส่วน ได้แก่ cortex, limbic system และสมองน้อย (cerebellum) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการตื่นตัวของมนุษย์ ประมวลผลผ่านสมองโดยสามารถทำงานประสานกับระบบการรับสัมผัสอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เราสามารถควบคุมตนเอง และมีสมาธิจดจ่อได้ ดังนั้นหากได้สิ่งเร้าประสาทรับความรู้สึกของระบบ Proprioceptive อย่างเหมาะสมจะช่วยให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ที่ดี ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมได้
ในแทบทุกกิจกรรมจะอาศัยการทำงานของระบบ Proprioceptive แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี เช่น นักเปียโนที่ต้องอาศัยการรับรู้ผ่านข้อต่อของนิ้วมือขณะออกแรงกดเปียโน กิจกรรมที่กระตุ้นผ่านระบบ Proprioceptive จะต้องเป็นกิจกรรมที่กดทับไปที่ข้อต่อ เอ็น และกล้ามเนื้อ การผลัก การดึง การแบกน้ำหนัก เช่น การเล่นผลักบล็อกไปยังจุดหมาย การกระโดดแทรมโพลีน การกอดรัดลูกอย่างแนบแน่น หากเด็กได้กิจกรรมเหล่านี้อย่างเพียงพอจะช่วยให้เด็กเกิดสภาวะพร้อมเรียนรู้ต่อไปได้
“สัญญาณความผิดปกติของระบบ Proprioceptive”
- การแสวงหาสิ่งเร้าระบบ Proprioceptive มากเกินไป (SENSORY SEEKING BEHAVIORS)
- ชอบการกระโดด การกระแทกแรงๆ ไม่กลัวเวลาต้องกระโดดจากที่สูง
- วางกระแทกของเล่นแรงๆ
- กระทืบเท้าเวลาเดิน
- ชอบห่มผ้าห่มแน่นๆ เอามาห่อตัว หรือห่มผ้าหนาๆ หนักๆ
- ชอบใส่เสื้อผ้าโดยรัดเข็มขัดแน่นๆ ผูกเชือกรองเท้าให้แน่นที่สุด
- ชอบกิจกรรมที่ได้บีบ อัด หรือขยำแรงๆ
- สนุกกับการกอดตุ๊กตาหมีมากเกินไป
- มีความยากลำบากในการปรับระดับการเคลื่อนไหว มีปัญหาสหสัมพันธ์การเคลื่อนไหว
- วางแผนไม่ได้ว่าต้องงอ หรือยืดกล้ามเนื้อมากน้อยแค่ไหน ในขณะทำกิจกรรม
- ชอบเล่นแรง ทำทุกอย่างด้วยกำลังมากเกินไป คือ เดิน กระแทกพื้น เปิดปิดประตูแรงเกินไป หรือเล่นกับเพื่อนผลักเพื่อนแรงๆ
- มีความยากลำบากในการควบคุมแรงของกล้ามเนื้อมือ เมื่อต้องทำงานเขียน/วาด อาจจะเขียนตัวหนังสือเบาเกินไป หรือกดมากเกินไปจนดินสอหัก
- ทำงานเขียนเลอะเทอะ ลบจนกระดาษฉีกขาด
- ดูเหมือนชอบทำลายสิ่งของและของเล่นอยู่เสมอ
- กะแรงกะน้ำหนักของวัตถุไม่ถูกต้อง เช่น หยิบแก้วน้ำขึ้นมาด้วยแรงมากเกินไปทำให้น้ำหก หรือใช้แรงน้อยเกินไปและบ่นว่าของหนักเกินไป
- อาจไม่เข้าใจความ “หนัก” หรือ “เบา” หรือไม่สามารถถือสิ่งของสองชิ้นและบอกได้ว่าชิ้นใดมีน้ำหนักมากกว่า
“กิจกรรมการเล่นที่กระตุ้น ระบบประสาทรับความรู้สึก Proprioceptive”
พ่อแม่สามารถจัดกิจกรรมให้เด็กได้ออกแรง กด ผลัก ดัน ดึง ผ่านกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อของร่างกาย เช่น
- เล่นวิดพื้นเก้าอี้ วางมือข้างต้นขา เอามือดันพื้นเก้าอี้ ลงแล้วยกก้นออกจากเก้าอี้ให้ลอยขึ้น
- การเล่นเลียนแบบท่าสัตว์ เช่น กระโดดท่ากบ คลานสี่ขาโก่งก้นเหมือนหมี
- การเล่นมุดคลาน ให้เด็กเล่นคลานในที่แคบคล้ายการฝึกทหาร
- กระโดดโซฟา / แทรมโพลีน กระโดดลงบนเบาะนุ่ม กระโดดบนที่นอน
- ท่าเดินไถนา ให้เด็กใช้มือเดินบนพื้น จับยกขาทั้งสองข้างของเด็ก เพื่อให้เด็กได้ลงน้ำหนักที่มือและแขน
- การเล่นแป้งโด เช่น ให้เด็กหาลูกปัดที่ซ่อนอยู่ในแป้งโด, เล่น Block ตัวหนังสือ กดลงไปที่แป้งโด เด็กจะได้ออกแรงรับรู้ผ่านเอ็นและข้อต่อของนิ้วมือ
- กิจกรรมการเล่นนอกบ้าน เช่น เล่นชักกะเย่อ เล่นโหนบาร์ลิงที่สนามเด็กเล่น
- กิจกรรมงานบ้าน ยกน้ำดื่มเก็บเข้าที่ ถูพื้นบ้าน ยกตะกร้าผ้า
หากพ่อแม่รู้สึกว่าเด็กมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ออกแรงไม่เหมาะสมกับกิจกรรม เล่นแรง หรือมีภาวะอยู่ไม่นิ่ง ดูเหมือนแสวงหาสิ่งเร้าความรู้สึกผ่านกล้ามเนื้อและข้อต่อตลอดเวลา ควรปรึกษานักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณาการประสาทรับความรู้สึกเพื่อประเมินและบำบัดรักษาต่อไป หากเด็กมีปัญหาเหล่านี้สามารถปรึกษานักกิจกรรมบำบัด Sense Say ได้เลยค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- สรุปเนื้อหาจากการอบรม การพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านกิจกรรมบูรณาการประสาทการรับความรู้สึก ฉบับนักวิชาชีพ (Basic and Advance) วิทยากร อ.ดร.ก.บ. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา และ อ.ดร.ก.บ. พีรเดช ธิจันทร์เปียง
- What is Proprioception and Why Is It Important?
- SENSORY MINIS – PROPRIOCEPTION