Vestibular ระบบที่ช่วยรักษาสมดุลร่างกาย

February 23, 2024

กบ. กอข้าว เพิ่มตระกูล


เด็กที่ดูซุ่มซ่าม ยังไม่สามารถใช้มือสองข้างทำงานร่วมกันได้ดี เช่น การใช้กรรไกรตัดกระดาษ เขียนหนังสือ ผูกเชือกรองเท้า อาจเป็นปัญหาจากระบบ Vestibular ซึ่งระบบ Vestibular มีตัวรับความรู้สึกในหูชั้นใน หากเด็กมีความผิดปกติในระบบนี้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต


“Vestibular System คืออะไร?”


Vestibular คือ การที่มนุษย์ได้รับความรู้สึกผ่านตัวรับที่หูชั้นใน และแปลผลผ่านสมองของเรา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ ความรู้สึกในการรับรู้ถึงแรงดึงดูดของโลกและการรับรู้ตำแหน่งศีรษะ เมื่อระบบ Vestibular ทำงานได้ดี จะทำให้ศีรษะและร่างกายของเรามั่นคงในระหว่างการเคลื่อนไหว ส่งผลให้เรายังรักษาการทรงท่าและสมดุลของร่างกายไว้ได้เมื่อต้องเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ

“Vestibular สำคัญอย่างไรกับการเลี้ยงลูก”


เด็กที่ดูซุ่มซ่าม ทรงตัวไม่ดี หรือยังไม่สามารถใช้มือสองข้างทำงานร่วมกันได้ดี เช่น การใช้กรรไกรตัดกระดาษ เขียนหนังสือ ผูกเชือกรองเท้า อาจเป็นปัญหาจากระบบ Vestibular

ระบบ Vestibular มีตัวรับความรู้สึก 2 ตัว ในหูชั้นใน

  • ส่วนแรกเรียกว่า Semicircular canel สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะตามแนวหมุน คือ การพยักหน้าขึ้นและลง การส่ายหน้าจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง หรือเอียงไปทางซ้ายและขวา ช่วยในการรักษาสมดุลการทรงท่า เพื่อไม่ให้รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลเวลาเคลื่อนไหว ถ้าระบบนี้มีปัญหาจะทำให้ไม่สามารถรักษาสมดุลในการเคลื่อนไหวร่างกาย มีปัญหาในการเคลื่อนไหวของดวงตา และการใช้ร่างกายทั้งสองซีกทำงานร่วมกัน
  • ส่วนที่สองเรียกว่า utricle ซึ่งจะตรวจจับการเคลื่อนไหวในระนาบแนวนอน อีกส่วนเรียกว่า saccule จะตรวจจับการเคลื่อนไหวในระนาบแนวตั้ง เป็นตัวรับรู้เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง เพื่อให้เราสามารถนั่ง ยืน เดิน เคลื่อนไหวต้านกับแรงโน้มถ่วงบนโลกได้อย่างปลอดภัย รับรู้ว่าร่างกายเรากำลังเคลื่อนไหวด้วยความเร่งในทิศทางขึ้นหรือลง เช่น เวลาเล่นสไลด์เดอร์ที่ร่างกายเราจะเคลื่อนไหวลงด้วยความเร่ง ถ้าระบบนี้มีปัญหาจะทำให้ร่างกายกลัวการเคลื่อนไหว มีความยากลำบากในการทรงท่าให้อยู่ในท่าตั้งตรง (Upright position)

“สัญญาณความผิดปกติของระบบ Vestibular”

  1. ความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำ (Low muscle tone)
    • ความยากลำบากในการรักษาท่าทางการนั่งให้ตรง
    • ชอบยืนพิง หรือยืนใกล้คนอื่นมากเกินไป
  2. มีปัญหาในการทรงตัว (Poor postural movement and balance)
    • ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน ซุ่มซ่าม
  3. มีความยากลำบากในการใช้สองมือหรือทั้งสองข้างทำงานร่วมกัน (Poor bilateral coordination)
    • ใช้กรรไกรตัดกระดาษไม่คล่องแคล่ว
    • ติดกระดุมไม่ได้
    • ผูกเชือกรองเท้าไม่ได้
    • ปั่นจักรยานไม่ได้
    • มีความยากลำบากในการเขียนหนังสือ
  4. มีความไม่มั่นคงจากแรงโน้มถ่วง (Postural and gravitational insecurity)
    • เป็นกังวลเมื่อเท้าไม่ได้แตะพื้น หรือต้องขึ้นที่สูง
    • หลีกเลี่ยงการกระโดด เช่น ขึ้นบันได หรือกระโดดแทรมโพลีนไม่ได้
    • กลัวบันไดเลื่อนและลิฟต์ กลัวการเดินบนขอบถนน

“กิจกรรมการเล่น ที่กระตุ้น ระบบประสาทรับความรู้สึก Vestibular”

พ่อแม่สามารถสร้างโอกาสในการกระตุ้นระบบ vestibular ผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ เช่น

  • การเดินทรงตัวบนสะพานไม้แคบ
  • เล่นกระโดดแทรมโพลีน
  • เล่นสไลด์เดอร์
  • เล่นชิงช้าหมุนแกว่งในทิศทางต่าง ๆ
  • กิจกรรมแกว่งหมุน เป็นวงกลม เช่น เครื่องเล่นม้าหมุน
  • กระตุ้นสหสัมพันธ์ร่างกายผ่านการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า
  • การเล่นกีฬาเพื่อส่งเสริมสหสัมพันธ์ร่างกายสองซีก เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เตะบอล
ภาพโดย ดร.ครูเบลล์

แต่หากเด็กกลัวและกังวลการเคลื่อนไหว ผู้ดูแลไม่ควรบังคับให้เด็กเคลื่อนไหวในสิ่งที่เด็กกลัว ควรปรึกษานักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณาการประสาทรับความรู้สึกเพื่อประเมินและบำบัดรักษาต่อไป หากเด็กมีปัญหาเหล่านี้สามารถปรึกษานักกิจกรรมบำบัด Sense Say ได้เลยค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  • สรุปเนื้อหาจากการอบรม การพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านกิจกรรมบูรณาการประสาทการรับความรู้สึก ฉบับนักวิชาชีพ (Basic and Advance) วิทยากร อ.ดร.ก.บ. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา และ อ.ดร.ก.บ. พีรเดช ธิจันทร์เปียง
  • The Vestibular System 
  • SENSORY MINIS – VESTIBULAR 
  • 2-Minute Neuroscience: Vestibular System 
กบ. กอข้าว เพิ่มตระกูล
กบ.1096