ความบกพร่องการประมวลผลการรับความรู้สึก

October 29, 2024

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์

ตอนนี้เราเดินทางมาถึงเดือนตุลาคมกันแล้วนะคะ เดือนนี้เป็นเดือน #SensoryProcessingAwareness อีกด้วยค่ะ เซ้นเซจึงอยากจะเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะทำให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการประมวลผลการรับความรู้สึก ภาวะที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ รวมไปถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันหรือกิจกรรมที่เหาะสมสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้กันค่ะ

กระบวนการประมวลผลการรับความรู้สึก

การประมวลผลการรับความรู้สึก (Sensory Processing) หรือในบางครั้งเราอาจคุ้นเคยกับคำว่าการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration)

ทั้ง 2 คำนี้มีหลักการพื้นฐานมากจากทฤษฎีเดียวกันคือ ทฤษฎีการบูรณาการประสาทความรู้สึก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในสมองโดยเริ่มรับข้อมูลจากตัวความรู้สึกทั้ง 7 ช่องทาง ผ่านเข้ามาในสมองเพื่อมาแปลผลและแสดงออกไปเป็นการเคลื่อนไหว อารมณ์ หรือพฤติกรรม การแสดงออกเกิดได้หลากหลายรูปแบบมีทั้งเหมาะสมและไม่เหมาะสม กระบวนการประมวลผลการรับความรู้สึกเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนทารกอยู่ในครรภ์มารดาและมีช่วงเวลาวิกฤตในการพัฒนาคือช่วงอายุ 3 – 7 ปี หากมีความบกพร่องเกิดขึ้นจะส่งผลต่อลำดับขั้นการพัฒนาที่สูงขึ้นเช่น การเล่น การเรียน การทำกิจวัตรประจำวัน

จะเป็นอย่างไรเมื่อมีความผิดปกติในการประมวลผลการรับความรู้สึก (Sensory Processing Disorder)

ความผิดปกติในการประมวลผลการรับความรู้สึกนั้น สามารถแบ่งกลุ่มออกมาได้ 3 กลุ่มย่อย คือ ความบกพร่องในการปรับระดับความรู้สึก (Sensory Modulation Disorder), ความบกพร่องในการแยกแยะความรู้สึก (Sensory Discrimination Disorder) และ ความบกพร่องในการเคลื่อนไหวที่มีพื้นฐานจากการรับความรู้สึก (Sensory-based motor disorder)

  1. ความบกพร่องในการปรับระดับความรู้สึก (Sensory Modulation Disorder: SMD) คือ ความบกพร่องในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาไม่เหมาะสมทำให้ไม่สามารถปรับระดับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งเร้าและแสดงออกไปได้อย่างเหมาะสม มักเกิดขึ้นเป็นกระบวนการสู้หรือหนี (Fight or Freeze)  พฤติกรรมแสดงออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย 
    • มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้ามาก/สูงเกินไป (Sensory over-reactivity) : เด็กจะตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากกว่าปกติเช่น ปฏิเสธอาหารเนื้อสัมผัสบางชนิด ปฏิเสธการเล่นทราย/หญ้า ใส่เสื้อผ้าแบบเดิม ๆ กินยากกินซ้ำเดิม
    • มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าน้อย/ต่ำเกินไป (Sensory under-reactivity) : เด็กมักจะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเช่น เดินชนหรือเหยียบสิ่งของไปโดยไม่หันมาสนใจ ไม่รับรู้ตำแหน่งของตนเองเมื่ออยู่กับที่หรือเคลื่อนไหว
    • มีการแสวงหาการรับความรู้สึก (Sensory seeking/ craving) : เด็กจะมีการแสวงหาสิ่งเร้า ระดับการตื่นตัวสูง หุนหันพลันแล่น ส่งผลต่อสมาธิและการสนใจจดจ่อ
  2. ความบกพร่องในการแยกแยะความรู้สึก (Sensory Discrimination Disorder: SDD) เด็กจะมีความยากลำบากในการแยกแยะสิ่งเร้าที่เข้ามาโดยไม่ใช้ตามองเช่น การรับรู้ผ่านการสัมผัส การรับรู้ผ่านระบบเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กไม่สามารถบอกความแตกต่างผ่านการสัมผัสได้ยาก จับดินสอและออกแรงกดไม่เหมาะสม 
  3. ความบกพร่องในการเคลื่อนไหวที่มีพื้นฐานจากการรับความรู้สึก (Sensory-based motor disorder: SBMD) สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่ม
    • Vestibular Bilateral Integration and Sequencing (VBIS): เด็กมักจะมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการทรงท่า สหสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของร่างกายทั้ง 2 ซีก การเคลื่อนไหวของลูกตาและการรักษาสมดุล กิจกรรมที่มีการกะระยะหรือการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจะทำได้ยากลำบาก
    • Praxia: เด็กจะมีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการเคลื่อนไหวโดยเกิดขึ้นตั้งแต่การคิด วางแผนและจัดระเบียบการเคลื่อนไหวออกมาเพื่อทำงานที่ไม่คุ้นเคยให้สำเร็จ เด็กบางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ทางสายตา (Visual perception), สับสนคำสั่งที่ได้ยิน, ไม่สามารถเล่าสิ่งที่เป็นลำดับขั้นตอนได้, เคลื่อนไหวงุ่มง่าม

เมื่อไหร่ที่พฤติกรรมเป็นปัญหาควรได้รับการแก้ไข

การประมวลผลการรับความรู้สึกในคนทุกคนมีความแตกต่างกันในแต่บุคคลเช่น บางคนชอบกลิ่นนี้ ไม่ชอบสัมผัสที่เละ หรือชอบเล่นกิจกรรมผาดโผน หากการประมวลผลการรับความรู้สึกนี้ไม่กระทบกับกิจกรรมดำเนินชีวิตเช่น การเล่น การเรียน การทำกิจวัตรประจำวัน จะยังไม่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่หากการประมวลผลการรับความรู้สึกที่ไม่เหมาะสมนี้กระทบต่อกิจกรรมดำเนินชีวิตจะถือว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

น้องเซ้นซึปฏิเสธการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน เมื่อถึงเวลาเรียนจะหนีหรือปลีกตัวออกไปนอกกลุ่ม (กระทบกับกิจกรรมการเรียน การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม)

น้องเซ้นซึไม่ชอบอาหารที่นิ่มเละ กินได้แต่ของแห้งและแข็งคุณแม่ต้องห่อข้าวไปโรงเรียนทุกวัน (กระทบกับกิจกรรมการรับประทานอาหาร)

น้องเซ้นซึยังแต่งตัวเองตามวัยไม่ได้ สับสนหน้าหลังของเสื้อ ไม่สามารถผูกเชือกรองเท้าได้เอง (กระทบกับกิจกรรมการแต่งตัว)

จากตัวอย่างที่กล่าวมาหากสงสัยว่าเด็กๆ มีปัญหาเกี่ยวกับการประมวลผลการรับความรู้สึกหรือไม่ ควรพาไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อทำการประเมินและได้รับคำแนะนำให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนและฝึกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาความสามารถสมวัย ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีความสุขค่ะ

เอกสารอ้างอิง

สร้อยสุดา วิทยากร, สุภาพร ชินชัย,และ สรินยา ศรีเพชราวุธ. (2555). กรอบอ้างอิงการบูรณาการประสาทความรู้สึก: ทฤษฎีและการปฏิบัติการทางคลินิกกิจกรรมบำบัด. โครงการตำรา คระเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา, และพีรเดช ธิจันทร์เปียง. (2564). การพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านกิจกรรมบูรณาการประสาทการรับรู้ความรู้สึกฉบับนักวิชาชีพ (Basic and Advance) [เอกสารที่ไม่มีการตีพิมพ์]. คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

กบ.นราพร ม่วงปกรณ์
กบ.1123